เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน เป็นมื้ออิ่มสู่ชุมชนนางเลิ้ง กับโครงการ LINE MAN Wongnai SOS Rescue Kitchen

“ทานข้าวให้หมดจาน” วลีที่เราทุกคนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก แต่ถึงแม้ว่าเราจะทานอาหารเกลี้ยงจานแค่ไหน ตลอดเส้นทางของกระบวนการผลิตอาหารจนถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร ก็ยังมีอาหารส่วนเกินหรือที่เรียกว่า Surplus Food เหลือทิ้งอยู่ดี ยืนยันได้ด้วยตัวเลขการสูญเสียอาหารบนโลกที่สูงถึง 1,300 ล้านตันต่อปี หรือ 30% ของปริมาณอาหารที่ผลิตเพื่อบริโภคทั้งหมด*

วันนี้เราจึงพามาพูดคุยกับตัวแทนจาก 3 องค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกันในการลดปริมาณการทิ้งอาหาร ได้แก่ LINE MAN Wongnai ผู้นำแพลตฟอร์มออนดีมานด์และข้อมูลร้านอาหารของไทย, มูลนิธิ Scholars of Sustenance (Thai SOS) และ ผู้นำชุมชนวัดแคนางเลิ้ง ถึงเส้นทางของอาหารส่วนเกินที่ถูกส่งจากร้านอาหารและกลุ่มอุตสาหกรรม มาสู่การเป็นมื้ออิ่มให้แก่ชาวบ้านชุมชนวัดแคนางเลิ้ง จุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่อาหารส่วนเกินเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร

จุดเริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญของปัญหาใกล้ตัว

“LINE MAN Wongnai เป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดขยะจากการเดลิเวอรี ซึ่งเราตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมีเป้าหมายในการช่วยเหลือทั้งสิ่งแวดล้อม และสังคม” ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าว “ทุกวันนี้เราอาจจะเคยชินกับปัญหาขยะจากอาหารจนมองว่ามันคือเรื่องปกติ แต่ยิ่งปัญหาเล็กน้อยถูกละเลยมากเท่าไหร่ มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทันเวลา”

“เราเริ่มตั้งแต่ที่บริษัทฯ ปลูกฝังให้พนักงานเห็นความสำคัญของการแยกขยะ ด้วยการมีถังขยะประเภทต่างๆ แค่เริ่มด้วยการแยกขยะอาหาร ก็ช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นได้แล้ว”

วิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของ LINE MAN Wongnai จึงเลือกที่จะดำเนินไปตามหลัก Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ คือการลดการเกิดขยะจากอาหาร (Zero Food Waste) ด้วยการจัดกิจกรรม LINE MAN Wongnai SOS Rescue Kitchen ให้พนักงานภายในบริษัทมาร่วมกันทำอาหาร เปลี่ยนอาหารส่วนเกินและวัตถุดิบต่างๆ ที่ได้รับบริจาคมาจากโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นเมนูอาหารที่อร่อย ถูกปาก พร้อมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ส่งมอบให้ชุมชนที่มีความต้องการ และในขณะเดียวกัน ยังได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการเยียวยาผ่านอาหาร (Zero Hunger) เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวงจรการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน”

“เราต้องการที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน ด้วยการเยียวยาผ่านอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญตลอดมา”

Thai SOS มูลนิธิรักษ์อาหาร จิ๊กซอว์ที่เชื่อมอาหารส่วนเกินจากร้านอาหารไปสู่ชุมชนที่ต้องการ

“ทุกวันนี้ขยะอาหารที่คนไทยทิ้งมีปริมาณสูงถึง 5 – 6,000 ตันต่อวัน ถ้าคำนวนแล้วขยะอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด สร้างปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 8 ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบิน ทั่วโลกถึง 4 เท่า และยิ่งไปกว่านั้น ทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนหลายล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น Thai SOS จึงทำหน้าที่รับบริจาคอาหารมาส่งต่อให้ชุมชนที่ต้องการเพื่อไม่ให้อาหารเหลือใช้ต้องกลายเป็นขยะ” พี่แป็ก ศศิวรรณ ใจอาสา ผู้ประสานงานชุมชนมูลนิธิ Scholars of Sustenance เล่าให้ฟังว่า “Thai SOS เราทำหน้าที่เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ ที่เชื่อมระหว่างจิ๊กซอว์ 2 ตัว โดยเราจะเลือกชุมชนที่เข้าไปแจกอาหาร จากข้อมูลตามเส้นแบ่งความยากจน แล้วผู้ประสานงานชุมชนของเราก็จะลงพื้นที่ไปพูดคุยกับหัวหน้าชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นว่าคนในพื้นที่นั้นมีผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียงกี่คน” การลงพื้นที่เพื่อพูดคุยจึงทำให้ทีมได้ข้อมูลที่ทำให้แบ่งกลุ่มชุมชนได้แม่นยำขึ้น

“เรากับชุมชนเป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด”

“อย่างชุมชนวัดแคนางเลิ้งเอง เป็นย่านเก่าแก่ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถรับจ้างหรือค้าขายได้เหมือนเดิม” แต่ไม่ใช่เพียงปัจจัยทางสังคมเท่านั้น ชุมชนเองก็จำเป็นต้องมีทีมเข้ามาบริหารจัดการอาหารด้วยเช่นกัน “จากโปรเจคต์นี้ ส่วนใหญ่ที่รับมาจะเป็นผัก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 200 กิโลกรัม รวมเนื้อสัตว์ด้วยก็อีกประมาณ 30 กิโลกรัม ถือว่าได้อาหารสำหรับ 300 คน พอได้มาแล้วเราก็มีทีมจากชุมชนที่ช่วยจัดระบบการทำอาหาร แจกอาหาร” ซึ่งผลจากโครงการสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ให้กับชุมชนประมาณ 384 บาท ต่อเดือน/คน”

เหล่าเชฟมือฉมังจากชุมชนวัดแคนางเลิ้ง กับวัตถุดิบลับจาก Surplus Food (อาหารส่วนเกิน) ที่คาดไม่ถึง

วัตถุดิบที่จะใช้ทำอาหารแจกคนในชุมชน เราจะรู้ตอนมาถึงครัวแล้ว บางทีเปิดมาทุกคนก็ไม่รู้จักนะว่ามันคืออะไร” พี่แดง สุวัน แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนวัดแคนางเลิ้ง เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “พี่เคยเจอลูกกลมๆ เหมือนฝรั่งอะไรสักอย่าง (มารู้ทีหลังว่าคือผลซาโยเต้) ตอนนั้นสมาชิกในชุมชนที่ทำอาหารเก่งๆ ได้รับหน้าที่เป็นเชฟก็เอามาทำส้มตำ ปรากฎ คนบอกว่าอร่อย แล้วก็มีโปรตีนเกษตร โลนึงประมาณ 600 บาท เป็นออร์แกนิก ก็เลยเอามาทำเป็นลาบ” การคิดค้นสูตรอาหารจึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนและอาสาสมัครได้มาใช้เวลาร่วมกันสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

“พี่ว่าเราจะทำเมนูอะไรก็ได้ ทำในสิ่งที่เขาเห็นว่าเรามีศักยภาพ เพราะจริงๆ แล้วพี่ว่าชุมชนเรา เจ๋งมากเลย”

ท่ามกลางการพัฒนาของพื้นที่ที่เกิดขึ้นโดยรอบ วิถีชีวิตย่านนางเลิ้งยังคงอยู่ “เราอยู่ในพื้นที่ของความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นความเปราะบางทางจิตใจมาก ทุกคนต้องพยายามหาช่องทางสร้างรายได้ตลอดเวลา แต่หลังจากโควิดมาทุกคนได้รับปัญหาหมด ร้านทำผมเคยซอยผมวันนึงหลายตังค์ วันนี้ กลับไม่มีคนทำผมเลย ทุกสิ่งทุกอย่างสูญหมด” ช่วงที่โควิดระบาดรอบแรกตอนนั้น ชุมชนที่อยู่ใกล้กันมีติดโควิด 1 คน และส่งผลให้ชุมชนใกล้เคียงต้องกักตัว “ตอนนั้นทุกคนอดหมดเลย เราเลยต้องมานั่งคิดว่าจะทำยังไงต่อ พอดีกับว่า Thai SOS เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับชุมชนเรา” การสร้างความเข้าใจจึงเป็นเหมือนการบ้านชิ้นใหม่ที่พี่แดงต้องแสดงให้คนในชุมชนเห็น “แรกๆ ก็มีปัญหาตรงที่คนคิดว่า Thai SOS เอาอาหารใกล้เสียแล้วมาให้กินหรือเปล่า เขาก็ไม่อยากกิน เราก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าอันนี้คืออาหารส่วนเกิน ที่ยังสภาพดีอยู่ ปลอดภัยต่อการกิน แล้วก็ทำอาหารให้เขาดูเลย สุดท้ายเราเปลี่ยนมุมมองคนในชุมชนได้”

“สุดท้ายพี่คิดว่าทีมงาน Thai SOS และอาสาสมัครจาก LINE MAN Wongnai ทำให้กลไกชุมชนเราเปลี่ยนไป พวกพี่ทำไปเรื่อยๆ มีอาสาสมัครเข้ามาเยอะขึ้น มาเรียนรู้จากพวกพี่ และพวกพี่ก็ได้พัฒนาด้วย SOS ก็เลยกลายเป็นครัวของชุมชนโดยอัตโนมัติ”

ลูกมือคนเก่งจาก LINE MAN Wongnai กับความประทับใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนในชุมชน

“เราคาดหวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนตระหนักถึงปัญหาของอาหารส่วนเกินที่เกิดขึ้น” ปอปลา พนักงานจาก LINE MAN Wongnai หนึ่งในอาสาสมัครที่มาร่วมทำครัวเล่าให้ฟังว่า “การที่ LINE MAN Wongnai ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำอาหารมามอบให้กับชุมชน ก็ทำให้พี่ ป้า น้า อาในชุมชนอุ่นใจได้ว่า เขาจะมีมื้ออาหารดีๆ กลับไปทานกับครอบครัว ถึงแม้จะเป็นแค่หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ แต่ก็อยากให้เป็นหนึ่งวันที่เขาได้มีเวลาไปพักผ่อน และอยู่กับครอบครัว”

“โครงการนี้เป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้าง sustainable อาหารที่ไม่ได้ถูกใช้ จะถูกนำมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คนไร้บ้าน ทำให้วงจรการผลิตและบริโภคอาหารครบวงจร ไม่มีขยะอาหารที่เหลือสูญเปล่า และได้ส่งต่อให้คนที่เขาต้องการ ให้อิ่มท้อง”

“ปอปลาและเพื่อนๆ ที่เป็นอาสาสมัครมาทำอาหารกับคุณป้า โดยมีป้าที่เป็นเหมือนเฮดเชฟคอยกำกับ พวกเราก็หยิบจับตามถนัดเลย” นอกเหนือจากการได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากอาหารที่เหลือทิ้ง ว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหนแล้ว รอยยิ้มและความสุขที่ได้ทำมื้ออิ่มให้แก่ชุมชนถือว่าเป็นของแถมที่น่ายินดี

สุดท้ายนี้ LINE MAN Wongnai หวังว่าจะได้เป็นผู้ที่เริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนเห็นถึงปัญหา และช่วยกันยับยั้งปัญหาขยะที่เกิดขึ้น เรายังยืนยันที่จะให้ความสำคัญกับการจัดการ Zero Food Waste ผ่านการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ และเชิญชวนทุกคนมาร่วมมือง่ายๆ ไปกับพวกเราด้วยการบริจาคเงินเพียงคนละ 20 บาท ให้กับมูลนิธิรักษ์อาหาร ประเทศไทย เพื่อเป็นค่าอาหารให้กับคนใน 107 ชุมชน ภายใต้เครือข่ายของมูลนิธิฯ (เท่ากับ เพียง 5 บาท ต่อ 1 มื้ออาหาร) บริจาคและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://bit.ly/2WDNolR

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

*อ้างอิงจากตัวเลขของทาง FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ,2015
**ภาพกิจกรรมนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา