ถอดรหัส LINE MAN แจ้งเกิดจากเดลิเวอรี่ เตรียมผันตัวสู่บริการ O2O

LINE MAN เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาบริการโลคอลในไทย ตอนนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกรักของ LINE ไปแล้ว สามารถสร้างความสำเร็จกับบริการ Food Delivery จนขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง ในอนาคตผันตัวสู่บริการ O2O เชื่อมต่อร้านค้า กับลูกค้า

ไม่ใช่เจ้าแรกในตลาด แต่เข้าใจคนไทยจริงๆ

ทำตลาดในประเทศไทยได้ 2 ปีแล้วสำหรับ LINE MAN บริการที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ช่วยของผู้บริโภคอยู่ภายใต้ LINE เบื้องหลังของ LINE MAN เป็น Local Service บริการแรกๆ ที่คิดค้นโดยทีมคนไทย พัฒนาในไทย ไม่ได้เอามาจากบริษัทแม่

ซึ่งในช่วงนั้นถือเป็นช่วงทรานส์ฟอร์มของ LINE ก็ว่าได้ ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากแชท แอพพลิเคชั่น เป็นแพลตฟอร์ม O2O (Online to Offline) ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น เพราะช่วงนั้น LINE มีการเติบโตที่ทรงๆ ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวาเหมือนช่วงปีแรกๆ การขยายฐานลูกค้าจึงเป็นไปได้ยาก จึงใช้วิธีให้ลูกค้าใช้งาน LINE ถี่ขึ้น อยู่กับ LINE ตลอดทั้งวัน

LINE MAN ยังเป็นโปรเจ็คต์แรกหลังจากที่ “อริยะ พนมยงค์” ขึ้นแท่นเป็น กรรมการผู้จัดการคนแรกของ LINE ประเทศไทยด้วย อริยะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม หลังจากนั้น LINE MAN ได้ถูกอนุมัติเดือนธันวาคม จนในตอนนี้ได้ขึ้นแท่นเป็นบริการลูกรักของ LINE ไปแล้วเรียบร้อย

จุดเริ่มต้นของ LINE MAN ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยก่อน ในตอนนั้นเทรนด์ของเรื่องเดลิเวอรี่กำลังมาแรง เพราคนไทยชอบความสะดวกสบาย LINE MAN จึงวางจุดยืนเป็นเหมือนผู้ช่วยคอยให้ความสะดวกอยู่ตลอด

เริ่มเปิดตัวด้วย 3 บริการแรก ได้แก่ บริการส่งอาหาร (Food Delivery), แมสเซนเจอร์ (Messenger) และรับซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ (Convenience Goods) ตอบโจทย์คนเมืองที่ต้องการคนรับส่งสิ่งของ พฤติกรรม “ฝากซื้อของ” ฝากหิ้วของนั่นเอง

ซึ่งถ้าดูในตลาดแล้ว LINE MAN ไม่ได้เป็นผู้เปิดตลาดแต่อย่างใด มีผู้เล่นก่อนหน้านี้อยู่แล้วอย่าง Food Panda เป็นรายใหญ่ในตลาด Food Delivery บริการแมสเซนเจอร์ก็มีผู้เล่นหลายราย

แต่สิ่งที่ LINE MAN พัฒนาโมเดลธุรกิจให้แตกต่าง ด้วยการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ อย่าง Lalamove, Wongnai ส่วน LINE ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้ใช้ และเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านค้า ไม่มีการเก็บส่วนแบ่งจากร้านค้า แต่คิดค่าบริการเป็นระยะทางจากผู้บริโภค

ที่สำคัญคือการจับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยได้ตรงจุด ยอมจ่ายเงินที่มากขึ้นเพื่อแลกกับบริการที่เติมเต็มความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาออกไปซื้อของ

เรื่องกินเรื่องใหญ่ คนไทยชอบฝากซื้ออาหาร

ถ้าพูดถึงบริการที่แจ้งเกิดให้ LINE MAN ทำให้คนรู้จักเป็นอย่างดีก็คือ Food Delivery ได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ Wongnai ในด้านของฐานข้อมูลร้านอาหาร และ Lalamove ในด้านของมอเตอร์ไซต์ในการจัดส่ง

บริการนี้เริ่มต้นจาการมีร้านอาหารที่เข้าร่วม 10,000 ร้าน จนปัจจุบันมีทั้งหมด 40,000 ร้าน ครอบคลุมทั้งเชนร้านอาหาร และสตรีทฟู้ด ซึ่งตลาด Food Delivery เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามา Disrupt ตลาดร้านอาหารให้มีโมเดลใหม่ๆ

มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร พบว่าตลาดร้านอาหารมีมูลค่า 397,000 ล้านบาท และตลาด Food Delivery มีมูลค่า 27,000 ล้านบาท คิดเป็น 7% ของตลาดร้านอาหาร

อริยะเล่าวว่า “LINE MAN ไม่ใช่ Food Delivery เจ้าแรกที่ทำ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกรายมีโมเดลใกล้ๆ กัน เน้นร้านอาหารที่เป็นเชน ร้านอาหารแพงๆ ไม่ใช่ร้านที่กินกันทุกวัน แต่ความต้องการของผู้บริโภคต้องการร้านอาหารไทย ร้านริมถนน ร้านที่กินทุกวัน ตอนนั้นไม่มีใครสนใจลงมาจับ จน LINE MAN เข้ามา ช่วยขยายตลาดใหล้กว้างขึ้น จนตอนนี้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาด มีร้านอาหารมากกว่าคู่แข่ง 10 เท่า”

ร้านอาหารที่ไดรับความนิยมมากที่สุดคือเจ๊โอว, Kinza Gyoza และขนมปังเยาวราช ยกตัวอย่างร้านเกี๊ยวซ่าที่เข้าร่วมกับ LINE MAN มีการส่งสินค้าไปกว่า 2 ล้านชิ้น ยอดขายโตขึ้น 100 เท่า และในเวลา 5 นาทีมี 60 ออเดอร์

e-Commerce บูม ก็ช่วยส่งพัสดุ

หลังจาก 3 บริการได้รับความนิยมมากขึ้น LINE MAN จึงทำการพัฒนาฟีเจอร์อื่นๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภคโดยตลอด เห็นว่าเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตในไทย มีผู้ประกอบการ SME เยอะมาก จึงได้ออกบริการส่งพัสดุ (Postal/Parcel) เป็นบริการที่ไปรับพัสดุถึงบ้าน และนำไปส่งที่ไปรษณีย์ให้ สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ไม่สะดวกไปส่งสินค้า

ข้อมูลจาก PWC Total Retail Survey 2017 พบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 3,100 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 51% มูลค่า 1,600 ล้านเหรียญ เป็นตลาดที่บูมมากในเมืองไทย และมาร์เก็ตเพลส 49% มูลค่า 1,400 ล้านเหรียญ

และบริการล่าสุดกับ LINE TAXI ทีเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคม ที่จัดอยู่ใน LINE MAN เพราะว่าเป็นเรื่องของการคมนาคมเหมือนกัน อริยะเล่าว่า ที่เลือกลงมาจับตลาดนี้เพราะว่าปัญหาของแท็กซี่ยังมีให้เห็นทุกวัน ถึงแม้จะมีผู้ให้บริการมี 6 เจ้า แต่ก็ยังพบปัญหาเหมือนเดิม แก้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ เลยมีแรงบันดาลใจให้มาทำแท็กซี่ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนขับให้ดีขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น และให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้นด้วย พบว่าสถานที่ๆ มีการเรียก LINE TAXI บ่อยที่สุดคือสยามพารากอน

อนาคตจะต้องเป็น O2O ช่วยผู้ประกอบการ

ปัจจุบัน LINE MAN มีบริการรวมทั้งหมด 5 บริการแล้ว แต่ละบริการมีการเติบโตที่พอๆ กัน ยกเว้น LINE TAXI ทีเพิ่งมาไม่นานนัก โดยที่มีผู้ใช้ 1 ล้านยูสเซอร์ต่อเดือน มีการเติบโต 489% (จำนวนออเดอร์ร้านค้า)

อริยะได้บอกเลยว่าถึงแม้ LINE MAN จะเติบโตจากเดลิเวอรี่ แต่ Next Step ต่อไปจะผันตัวเป็น O2O (Online to Offline) เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมลูกค้ากับผู้ประกอบการ ร้านอาหาร คนขายของ แท็กซี่ ผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่โลกออนไลน์ แต่พาเขามาอยู่โลกออนไลน์ด้วย LINE MAN เป็นการเข้าใจทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ

สรุป

บริการอย่าง LINE MAN เข้ามาตอบโจทย์ชีวิตของคนยุคนี้ได้จริงๆ เพราะต้องการความสะดวก ซึ่ง LINE MAN เข้ามาถูกที่ ถูกจังหวะ และมีโมเดลที่แตกต่าง วางจุดยืนเเป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวันของคนไทย ให้ประหยัดเวลา รวมถึงให้ผู้ประกอบการเติบโต อีกทั้งยังได้จุดแข็งจากการเชื่อต่อจาก LINE ที่คนไทยรู้จัก และใช้เป็นประจำอยู่ทุกวัน ทำให้ LINE MAN ติดตลาดได้โดยง่าย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา