เปิด 9 ไฮไลท์ จาก LINE CONFERENCE 2019 เดินหน้าสู่ทุกไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน

LINE เผยวิสัยทัศน์ประจำปี 2019 ด้วยแนวคิด “LIFE ON LINE” เข้าไปอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เน้น 3 นวัตกรรมใหญ่ Offline, Fintech และ AI

9 ไฮไลท์สำคัญของ LINE อยู่ในไลฟ์สไตล์ทุกมิติ

LINE Corporation หรือ LINE ที่คนไทยรู้จักกันดี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ประจำปีภายในงานภายในงาน LINE CONFERENCE 2019 โดยที่ปีนี้มาในแนวคิด “LIFE ON LINE” กล่าวง่ายๆ ก็คือการยกระดับให้ LINE เป็นตัวช่วยในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในทุกๆ ย่างก้าว

ในปีนี้ได้เน้นนวัตกรรมใหม่ๆ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ Offline, Fintech และ AI ที่จะเป็นความท้าทายสำคัญของ LINE ในการพัฒนาบริการต่างๆ

ทาง Brand Inside ได้มีโอกาสไปเยือนงาน LINE CONFERENCE 2019 ณ Maihama Amphitheater กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เก็บภาพบรรยากาศมาฝาก พร้อมกับสรุป 9 ประเด็นวิสัยทัศน์สำคัญของ LINE ในปีนี้ด้วย

  1. ก้าวสู่ “LIFE ON LINE” ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคต้องมี LINE

เริ่มต้นงานด้วยจุงโฮ จิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (CWO) ได้ผู้ประกาศวิสัยทัศน์ใหญ่ของ LINE ภายใต้แนวคิด WOW ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งต่อให้ผู้บริโภค บริการสุด WOW จะต้องเพิ่มสะดวกให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันโดยแบ่งออกเป็ น3 กลยุทธ์หลักได้แก่ Offline, Fintech และ AI ที่จะเป็นคีย์สำคัญของปีนี้ เป็นแนวทางการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “LIFE ON LINE” ให้เกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด

ทั้งนี้จุงโฮ จิน ยังดำรงตำแหน่ง Chief WOW Officer จึงเป็นผู้อธิบายความ WOW ได้ดีที่สุด เดินหน้าสร้างนวัตกรรมด้วยความ WOW จะมามอบประบสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค และภายใต้แนวคิดนี้ ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย

การขายของไม่ใช่แค่ O2O (Online-to-Offline) แต่ต้องเป็น OMO (Online Merges with Offline) โดยที่ใช้ LINE ให้มากกว่าขอบเขตในโลกออนไลน์แต่จะขยายไปสู่ออฟไลน์ พร้อมสร้างศูนย์กลางทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ชีวิตของผู้ใช้งานสะดวกสบายมากขึ้น

เปิดตัว LINE Mini App เป็นแพลตฟอร์มบริการใหม่ที่จะเป็นตัวช่วยให้องค์กรหรือธุรกิจต่างๆ สามารถสร้างเพจของตัวเองบน LINE ได้ สามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับบริการ เช่น เมนู และราคา รวมถึงการทำการจอง, การออกคูปองพิเศษ และตั้งค่าบัตรสะสมคะแนนหรือ Loyalty Cards พร้อมดัวยความสามารถในการแจ้งเตือนที่สามารถส่งถึงผู้ใช้รายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน LINE ที่มีผู้ใช้งานกว่า 80 ล้านคนในญี่ปุ่น และยังมี Official Account ขององค์กร, ร้านค้า และธุรกิจต่างๆ อีกมากมาย การทำแพลตฟอร์มเข้าสู่ OMO นี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

ความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์ม ด้วยการมุ่งมั่นปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวที่สมบูรณ์แบบที่สุดและสร้างหลักสูตรผู้นำในอนาคต

  1. เปิด OpenChat ฟีเจอร์ใหม่สำหรับการสื่อสารให้สนุกขึ้น

เตรียมเปิดบริการใหม่ในชื่อ OpenChat ที่จะทำให้การสนทนาผ่าน LINE มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเน้นการตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์ ความสนใจ หรือความต้องการเฉพาะบุคคลของผู้ใช้งาน โดย OpenChat จะมีส่วนช่วยให้การสนทนาบน LINE ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น ด้วยการที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างกลุ่มเฉพาะตามความสนใจ

ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนชื่อกลุ่มได้อย่างหลากหลายในแต่ละกลุ่ม และสามารถดูบทสนทนาย้อนหลังได้แม้จะเพิ่งเข้าไปร่วมกรุ๊ป รวมถึงการเพิ่มฟีจอร์พิเศษสำหรับผู้ที่เป็น admin กลุ่มที่จะตอบรับให้ใครเข้ามาร่วมสนทนาเพิ่มเติม และยังสามารถสร้างรหัสในการเข้าร่วม โดย OpenChat พร้อมให้บริการในญี่ปุ่นแล้วในฤดูร้อน 2019 สำหรับประเทศไทยมีแผนที่จะเปิดให้บริการ OpenChat ภายในปีนี้เช่นกัน

  1. ผนึกพาร์ทเนอร์ เสริมแกร่งด้านคอนเท็นท์

ในส่วนของคอนเทนต์ ปีนี้ LINE มีอีกหลายฟีเจอร์ ถึงแม้จะเป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้บริการแต่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ในญี่ปุ่นมีฟีเจอร์ LINE NEWS สำหรับอ่านข่าวบนสมาร์ทโฟนผ่าน LINE ได้ร่วมมือกับสื่อกว่า 900 รายการในการสร้างคอนเทนต์ ในแต่ละวันมีคอนเทนต์มากกว่า 7,000 คอนเท็นท มีผู้ใช้งานกว่า 65 ล้านคน โดยเป้าหมายของ LINE NEWS ต้องการเป็นคอนเท็นท์แพลตฟอร์มด้านข่าวสารที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

อีกทั้งยังประกาศความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ TV Tokyo ที่จะเตรียมเปิดตัวในฤดูร้อน 2019 ด้วยคอนเซ็ปต์ “Replay Cast” ที่จะช่วยแจ้งเตือนให้กับผู้ใช้แบบ real-time ถึงการเตรียมออกอากาศของรายการสำคัญ ซึ่งทันทีที่คลิ๊กที่แถบแจ้งเตือน ผู้ใช้งานจะสามารถรับชมรายการได้เลยทันที

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับครีเอเตอร์นักผลิตคอนเทนต์ ได้เปิดตัว VISION โปรเจ็ควีดีโอสำหรับ LINE NEWS ที่เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียในการทำคอนเทนต์ โดยรูปแบบจะเป็นคอนเท็นท์วีดีโอแนวตั้งที่จะปรากฏขึ้นบนแท็ป News ในแอป LINE ล่าสุดได้ร่วมมือกับครีเอเตอร์ชื่อดังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ Masahiko Sato, Kundo Koyama, และ Gakuto Akashi

  1. Live Steaming มาแน่ เพิ่มแพลตฟอร์มด้านความบันเทิง

การที่ผู้บริโภคมีการใช้โซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ใช้ในชีวิตประจำวันในทุกไลฟ์สไตล์ LINE เองก็ต้องการยกระดับความบันเทิงให้เหมือนโซเชียลมีเดียเช่นกัน ปีนี้แพลตฟอร์มด้านความบันเทิงมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เพียบ

LINE Creators Market

  • สามารถซื้อสติกเกอร์จาก Creator Stickers ได้ไม่จำกัดผ่านบริการ LINE Stickers Premium เริ่มให้บริการในกรกฎาคม 2019 ซึ่ง LINE Stickers Premium เป็นบริการแบบ Subscription หรือสมัครสมาชิก ที่จะช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบสติกเกอร์สามารถเข้าถึงสติกเกอร์มากกมายกว่า 3ล้านชุด โดยตลาดสติกเกอร์มีมูลค่ากว่า 380 ล้านเยน ซึ่งแพ็คเกจ LINE Stickers Premium คิดค่าบริการเพียง 240 เยนต่อเดือน (สำหรับนักเรียน นักศึกษา คิดราคา 120 เยนต่อเดือน)

LINE LIVE

  • เตรียมเปิดบริการ Live Streaming บนแพลตฟอร์ม LINE ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เหล่าเซเลบริตี้ หรือใครก็ตามได้สานฝันในการเป็น LINE LIVERs ในการสร้างคอนเท็นท์สดๆ สำหรับคนที่เป็นเซเลบริตี้ก็ได้มีช่องทางพูดคุยกับแฟนคลับ หรือแม่ค้าก็ใช้ LINE LIVE ในการขายของได้เช่นกัน
  • เป็นบริการ LIVE Commerce ที่จะเปิดบริการปี2020 เป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยผู้ชมสามารถช้อปหรือซื้อสินค้าระหว่างที่ชม Live ได้ทันที นอกจากนี้ผู้ชมยังสามารถถามคำถามเกี่ยวกับสินค้าได้ในระหว่างชม Live เป็นอีกหนึ่งช่องทางการหารายได้ที่น่าสนใจในอนาคต

LINE MUSIC

  • ในปีนี้จะทำการ ยกเครื่อง UI ใหม่ทั้งหมด ด้วยการใช้ AI เข้ามาช่วย เพิ่มฟีเจอร์ MUSIC VIDEO และเปิดตัว Freemium model ONE PLAY ผู้ใช้จะสามารถฟังเพลงทั้ง 54 ล้านเพลงได้อย่างสะดวก และง่ายดายขึ้น
  • ปัจจุบันมีจำนวนผู้ดาวน์โหลดมากกว่า 32 ล้านคนจำนวนเพลงใน LINE MUSIC มากกว่า 54 ล้านเพลงและจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 11 ล้านคน
  1. Mobile Payment Platform เดินหน้าปั้น LINE Pay ให้เป็นเบอร์ 1

ปัจจุบันรูปแบบการจ่ายเงินได้เปลี่ยนไปเป็นสังคมไร้เงินสด โดยนิยมทำธุรกรรมผ่านทางมือถือเป็นหลัก ซึ่งทางLINE ได้วางโดเมนเงินสดเป็นกลยุทธ์สำคัญผ่านบริการกระเป๋าเงินดิจิตัลอย่าง LINE Pay โดยในเดือนมิถุนายน2019 มีผู้ใช้บริการมากกว่า 48 ล้านคนทั้งในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย

LINE Pay ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในไต้หวัน มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจาก 2.9 ล้านคน เป็น 6.3 ล้าน เติบโตถึง 30% ในประเทศไทยมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพิ่มชึ้นจาก 3.1 ล้าน เป็น 6 ล้านคน ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น มีผู้ใช้งานถึง36 ล้านคน

โดยที่ในไต้หวัน และไทย มีการใช้ LINE Pay กับการเดินทางต่างๆ แต่ในญีปุ่นมีบริการที่หลากหลายครอบคลุมมากกว่า ทำให้มีผู้ใช้บริการสูง

ในปีนี้ได้จับมือร่วมกับร้านกาแฟ Starbucks ในญี่ปุ่นเปิดตัวบัตร LINE Starbucks เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตอนนี้มียอดสมาชิกผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นถึง1 ล้านรายจากจำนวนสมาชิกเดิม 3.3 ล้านราย

  1. แพลตฟอร์มการเงิน ไฮไลท์ของการทำ Fintech

เป้าหมายของเรื่องแพลตฟอร์มทางการเงินของ LINE คือการพัฒนา LINE Wallet ให้เป็นการให้บริการธุรกรรมทางการเงินแบบไร้รอยต่อ ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์ม Fintech และตอบโจทย์วิสัยทัศน์ “LIFE ON LINE” โดยLINE ตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินและธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

เตรียมเปิดตัวบริษัทหลักทรัพย์ LINE โดยที่ LINE Financial ได้ร่วมทุน Nomura Holdings เปิดบริษัทหลักทรัพย์ LINE เพื่อให้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์ในแอพ LINE ซึ่งบริการนี้จะรวบรวมหุ้นที่คัดสรรจากบริษัทชั้นนำ 100 แห่งในญี่ปุ่นและอนุญาตให้ผู้ใช้เริ่มต้นลงทุนขั้นต้นที่ 150 เยน ถึง 3,000 เยนต่อหุ้น

เตรียมเปิดตัว LINE Pocket Money โดยที่ LINE Credit จะเปิดให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ต้องใช้หลักประกันภายใต้บริการชื่อLINE Pocket Money ซึ่งจะมอบสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้ LINE Score โดยบริการใหม่นี้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยและวงเงินสินเชื่อประจำปีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใช้แต่ละรายโดยพิจารณาจากคะแนน LINEScore เป็นหลัก

  1. แพลตฟอร์ม Commerce ต้องเป็น OMO

แพลตฟอร์มทางด้านการซื้อขายสินค้าของ LINE ประกอบด้วย 3 บริการ คือ LINE Shopping, LINE Delima และ LINE Travel ซึ่งหลังจากนี้จะเน้นการผสานกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ผ่านแนวคิดOMO

LINE Travel

  • LINE Travel ได้เปิดตัวบริการใหม่ Odekake NOW เป็นบริการค้นหาใหม่อยู่ใน LINE Travel ที่เข้าถึงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้งานทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและจองร้านอาหารและที่พักใกล้เคียงได้ บริการนี้ร่วมกับเว็บไซต์อาหารอย่าง Ozmall และ Ikyu.com Restaurant เว็บไซต์ท่องเที่ยวและที่พักอย่าง  Asoviewและ Walker plus และเว็ปไซต์จองร้านอาหารและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างง่ายดาย

LINE Shopping

  • LINE Shopping มีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับLINE มากกว่า 27 ล้านคน SHOPPING GO เป็นหนึ่งในบริการของ LINE Shopping ที่มุ่งเน้นไปที่ OMO ที่ช่วยให้ผู้ใช้รับคะแนนจาก LINE เมื่อซื้อสินค้าที่ร้านค้าออฟไลน์ นอกเหนือจากการทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาร้านค้าที่เข้าร่วมตามตำแหน่งปัจจุบันของพวกเขาแล้วยังเป็นจุดเชื่อมระหว่างผู้ใช้และร้านค้าในหลายๆ ด้านรวมถึงการนำเสนอบัตรสมาชิกดิจิทัลและการเชื่อมกับ LINE Pay

LINE Delima

  • ปัจจุบัน LINE Delima มีร้านค้าที่เข้าร่วมมากกว่า 16,500 แห่งนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อสองปีก่อนและรายได้มีการเติบโตถึง179% จากไตรมาส 4 ปี 2018 ถึงไตรมาส 1 ปี 2019
  1. เครื่องมือด้านการตลาด ช่วยผู้ประกอบการง่ายขึ้น

LINE ประกาศเป้าหมายในการเป็น “Life-marketing Platform” ที่จะช่วยเหลือผู้ใช้งานผ่านแนวคิดสำคัญสองประการ คือ การเพิ่ม Touchpoint กับผู้ใช้และการเสนอข้อมูลส่วนตัว ที่เรียกว่า “Comfortable Personalization” เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ใช้อย่างมากที่สุด

ช่องทางอัจฉริยะในการแสดงโฆษณาวิดีโอ

ตั้งแต่ปลายปี 2018 มีข่าวการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศที่มีภัยพิบัติและเนื้อหาอื่น ๆ รวมถึงโฆษณาได้รับการแสดงด้านบนของแชท LINE โดยพื้นที่โฆษณานี้เรียกว่าทางช่องทางอัจฉริยะ เมื่อผู้ใช้แตะที่ภาพโฆษณาบนแบนเนอร์ จะสามารถขยายเพื่อเล่นวิดีโอทำให้ผู้โฆษณาสามารถส่งเนื้อหาที่หลากหลายไปยังผู้ใช้ และผู้ใช้ยังสามารถเพลิดเพลินกับการดูโฆษณาทางโทรทัศน์และรับข้อมูลล่าสุด คาดว่าบริการนี้จะเปิดตัวในประเทศไทยช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2019

LINE Ads Platform สำหรับ Publisher

LINE จะเปิดตัว LINE Ads Platform โฉมใหม่สำหรับ Publisher ที่จะอนุญาตให้ third party เข้ามาร่วมเพื่อออกแบบโฆษณาที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแบบรายบุคคล ซึ่งจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่าง LINE และผู้บริหารโฆษณาเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่าจะเปิดตัวในปลายเดือนกรกฎาคม

LINE Flyer เปิดตัวในเดือนตุลาคม 2019

LINE Flyer คือการนำเอารูปแบบการใช้ใบปลิวและไดเร็คเมลล์ แบบออฟไลน์มาปรับให้เป็นรูปแบบใหม่ในดิจิทัล โดยผู้ใช้ LINE จะได้รับโฆษณาส่วนบุคคล ตามความต้องการบนพื้นที่ที่อยู่อาศัยเวลาของวันและเงื่อนไขอื่นๆ โดยผู้ใช้จะสามารถแตะที่หน้าจอ LINE Flyer จาก LINE Timeline, Smart Channel หรือ LINE Wallet ผู้ใช้สามารถบันทึกร้านค้าที่ต้องการในรายการโปรดเพื่อตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาผลิตภัณฑ์แต่ละรายการใน LINE Flyer ซึ่งบริการนี้ยังใช้ร่วมกับLINE Beacon เพื่อแจ้งลูกค้าเกี่ยวกับการลดราคาหรือโปรโมชั่นต่างๆ ของร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรม

  1. AI/Search เข้าสู่วงการ Search Engine

ปีนี้ LINE ได้นำเอา AI เข้ามาใช้ร่วมกับบริการค่อนข้างเยอะ เป็นไฮไลท์ที่เน้นในปีนี้ สำรหับเรื่องของ AI มีผู้ช่วยอย่าง Clova AI, LINE BRAIN AI โดยที่เป้าหมายของ LINE ในการเข้าสู่ธุรกิจเครื่องมือค้นหา (Search Engine)

ร่วมมือกับ Richmond Hotels และ Bridge Motion Tomorrow

ติดตั้งอุปกรณ์ฝังตัว Clova ในห้องพักเพื่อให้แขกของโรงแรมสามารถใช้ Clova เพื่อขอเส้นทางไปยังร้านสะดวกซื้อที่ใกล้ที่สุดแทนการโทรไปที่แผนกต้อนรับและบริการอื่นๆ ได้มากมาย

การติดตั้ง Clovaใน Gatebox

การผลิต Gatebox โมเดลใหม่ที่เชื่อมกับ Clova เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานจากโมเดลเดิม โดยโมเดลใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทักษะ Clova ขั้นพื้นฐานเช่นการตรวจสอบสภาพอากาศและข่าว แต่ยังรวมเทคโนโลยีล่าสุดของ Clova อาทิ การวิเคราะห์เสียงและเพิ่มเครื่องมือการสนทนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

LINE Car Navigator

นอกเหนือจากโครงการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องกับโตโยต้าในการประกอบ Clova ไว้ในยานพาหนะ LINE ยังได้ประกาศเปิดแอปใหม่คือ LINE Car Navigator โดยผู้ขับขี่และผู้โดยสารสามารถใช้ผ่านการควบคุมด้วยเสียงเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศของจุดหมายปลายทาง ส่งและรับข้อความ LINE ค้นหาเส้นทางและควบคุมการนำทางด้วยวิธีอื่นๆบริการนี้ยังเป็นการบริการในรุปแบบแอปอิสระและรองรับ Smart Device LINK (SDL) ที่เชื่อมโยงสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ในรถยนต์เพื่อให้สามารถใช้ในยานพาหนะอื่นได้ LINE Car Navigator คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2562

LINE BRAIN

LINE เตรียมเปิดตัว LINE BRAIN ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ของ LINE ที่มีความเชี่ยวชาญผ่าน Clova และธุรกิจอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคม 2562 รวมถึง LINE BRAIN CHATBOT (เทคโนโลยีแชท AI), LINE BRAIN OCR (เทคโนโลยีการจดจำตัวอักษร) และ LINE BRAIN SPEECH TO TEXT (เทคโนโลยีการจดจำเสียง)

LINE Search

LINE Search เป็นบริการค้นหาแบบครบวงจรให้บริการข้อมูลแก่ผู้ใช้ใน LINE โดยผู้ใช้สามารถค้นหาผ่านฐานข้อมูลทั้งหมดของ LINE รวมถึงการแชทบัญชีอย่างเป็นทางการ LINE NEWS, LINE Manga, LINE MUSIC และบริการอื่นของLINE เปิดตัวในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2562

สรุป

เรียกว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ LINE ในการพัฒนาบริการให้เข้าสู่ไลฟ์สไตล์ทุกอย่างของผู้บริโภคใน 24 ชั่วโมง เพราะตอนนี้ฐานผู้ใช้เริ่มนิ่งไม่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนหลายปีก่อน การขยายบริการให้ผู้ใช้ได้ใช้งานได้ถี่ขึ้นจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “LIFE ON LINE”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา