อีกบทเรียนการบริหารต้นทุน เมื่อ Lily หมุนเงินไม่ทัน ทำฝันผู้ใช้ Drone ติดตามตัวล่มสลาย

การบริหารต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญในทุกๆ ธุรกิจ ไม้เว้นแต่ Startup ที่ได้เงินทุนมหาศาลจาก VC รวมถึง Angel ต่างๆ และคราวนี้ก็มีบทเรียนของ Lily บริษัทผลิต Drone ติดตามตัว ที่ล้มเหลวเพราะหมุนเงินไม่ทันมาให้ศึกษากัน

Lily อุปกรณ์ Drone ที่สามารถบินตามผู้ใช้งานได้ // ภาพ lily.camera

ยอด 34 ล้านดอลลาร์ มี VC สนับสนุนก็ไปไม่รอด

เรียกว่าความฝันของช่างภาพ รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปที่อยากใช้งาน Drone แบบติดตามตัวมาใช้งานกันแบบสวยๆ ก็ต้องล่มสลายไปตามๆ กัน เพราะ Lily หรือ Drone ติดกล้องที่สามารถบินตามผู้ใช้ พร้อมบันทึกภาพได้ตลอดเวลา ออกแถลงการณ์ยกเลิกการส่งสินค้า และเตรียมคืนเงินกว่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,200 ล้านบาท) ให้กับผู้สั่งจองสินค้าล่วงหน้ากว่า 60,000 คน ภายใน 60 วันหลังจากนี้ เพราะบริษัทมีปัญหาทางการเงิน ไล่ตั้งแต่การผลิตสินค้า จนไปถึงต้นทุนในการขนส่งให้กับผู้สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ lily.camera

ขณะเดียวกัน Lily ไม่ได้มีแค่ยอดสั่งซื้อ แต่ยังมี VC และ Angel อีกจำนวนมากที่ให้ทุนกว่า 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 530 ล้านบาท) กับผู้ผลิต Drone อัจฉริยะรายนี้ เช่น Dorm Room Fund, Sherpa Capital, Slow Ventures, Spark Capital, StartX, SV Angel, Upside Partnership, The House Fund และ The InnoSpring Seed Fund เพราะช่วงเริ่มต้นจำหน่ายผ่าน Beta Program มีผู้สนใจสินค้าตัวนี้จำนวนมาก และด้วยความที่เป็นสินค้านวัตกรรมก็เป็นเรื่องที่น่าจะเติบโตได้ในอนาคต

การใช้งานของ Lily // ภาพ lily.camera

เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนคนซื้อเซ็งไปตามๆ กัน

สำหรับราคาของ Lily อยู่ที่ 800 ดอลลาร์ (ราว 28,000 บาท) ในช่วง Beta Program และเตรียมปรับขึ้นเป็น 1,000 ดอลลาร์ (ราว 35,000 บาท) หลังจากส่งสินค้าล็อตแรกเสร็จสิ้น แต่ด้วยสินค้ากลุ่มแรกยังไม่ส่งถึงมือผู้ซื้อเสียที ทำให้ราคายังไม่ถูกปรับขึ้น เพราะกำหนดส่งสินค้าแรกสุดอยู่ในช่วงฤดูร้อนของปี 2559 แต่ด้วยปัญหาทางการเงินทำให้ต้องเลื่อนส่งถึงสองรอบ โดยแจ้งล่าสุดว่าจะส่งสินค้าในสหรัฐอเมริกาภายในเดือนธ.ค. 2559 – ม.ค. 2560 ส่วนพื้นที่อื่นๆ ต้องรอภายในปีนี้ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ส่ง เพราะบริษัทปิดไปก่อน

ผู้ก่อตั้งของ Lily ยอมรับว่า ผลตอบรับช่วง Beta Program ดีมาก แต่ด้วยเราหมุนเงินไม่ทัน เพราะต้องผลิตสินค้าจำนวนมาก ทำให้ที่สุดแล้วก็ต้องคืนเงินให้กับผู้สั่งซื้อ ซึ่งเหตุการณ์นี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการบริหารทางการเงิน และต้นทุนเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะส่งผลไปที่แผนการจำหน่ายสินค้าโดยตรง ที่สำคัญก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บริษัททำ Drone อย่าง Lily ที่ก่อตั้งภายใน University of California ก็ต้องออกจากตลาดไป และไม่ได้ลงสนามแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในโลก Drone อย่าง DJI, 3D Robotics และ Hover เป็นต้น

สรุป

ถึงเป็น Startup ก็จะเน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ การวางแผนทางการเงินก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าแผนนี้ผิดพลาด โอกาสที่ความฝันในโลกธุรกิจจะล่มสลายก็มีสูง แต่โดยส่วนตัวก็รู้สึกเสียดายกับการล้มเลิก Lily ในครั้งนี้ด้วย เพราะถือเป็นอีกนวัตกรรมใหม่ในโลก Drone และหากลงตลาดได้จริง ก็น่าจะสู้กับคู่แข่งในตลาดนี้ได้อย่างสูสี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา