เรียนรู้การบริหารทีมแบบ Moneyball: เมื่อการทุ่มเงินซื้อทีมระดับดารา ไม่ใช่ทางออกสำหรับคนงบน้อย

ถอดบทเรียนการบริหารทีมจากหนังเรื่อง Moneyball

หนังเรื่องนี้อิงมาจากเรื่องจริงของชีวิตผู้จัดการทีมกีฬาเบสบอล Billy Beane จากหนังสือเรื่อง Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game โดย Michael Lewis ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2003 และเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว 

เราต่างก็เคยได้ยิน ได้ฟัง การย้ายค่ายของนักแสดง ศิลปิน การย้ายทีมของนักฟุตบอล ไปจนถึงการย้ายตัวออกจากสังกัดเดิมไปอยู่สังกัดใหม่ หรือไปเป็นผู้เล่นอิสระ ไร้สังกัด ของผู้คนหลากบทบาท

Moneyball

เกมแบบเก่าที่เราต่างคุ้นเคยกันดีก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ ค่ายใหญ่เหล่านั้นสายป่านดี ทุ่มไม่อั้น พร้อมจะชิงตัวผู้เล่นเก่งๆ ออกไปจากทีมเสมอ แค่ทำให้ผลงานเข้าตาและรอจังหวะเท่านั้น แต่ถ้าทีมมีเงินจำกัด จะสู้กับสายเปย์พร้อมทุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดได้ยังไง? ถ้าไม่ใช่การรีดเค้นทักษะ ความสามารถ มันสมองและการวางแผนเพื่อพัฒนาทีมอย่างเป็นระบบ 

เอาเข้าจริง การตัดสินใจย้ายออกจากทีม ไม่ใช่เรื่องเงินเสมอไป มันอยู่ที่ระบบการทำงาน เนื้องานที่ทำ บรรยากาศในการทำงาน โอกาสที่จะเติบโต เพื่อนร่วมทีม และหัวหน้าทีมด้วย แต่บทความนี้ไม่ได้จะสะท้อนว่าปัจจัยใดที่ทำให้คนย้ายออกจากทีม แต่จะสะท้อนภาพการบริหารทีมภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และนี่คือบทเรียนที่ได้จากหนังเรื่อง Moneyball หาดูได้ทาง Netflix

(1.) นักวิเคราะห์ความสามารถของผู้เล่นในทีม เพื่อจะคัดสรรคนเข้ามาอยู่ในทีม กับคนที่บริหารทีม และคนที่คอยโค้ชหรือไกด์ทีมให้เติบโต อาจไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป ส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น ฝีมือระดับเทพที่ผู้คนจะเป็นได้ทั้งนักวิเคราะห์ผู้เล่นและผู้บริหารทีมที่นำทีมให้ไปได้ไกล ไปจนถึงคนที่คอยโค้ชทีมหาได้ยากที่จะพบเจออยู่ในตัวคนเดียวกัน บางบทบาทอาจต้องแบ่งกันเล่น ตามทักษะหรือความโดดเด่นที่แต่ละคนมี

(2.) กีฬาเบสบอลมีกติกาที่ค่อนข้างซับซ้อน ถ้าเทียบจากเกมฟุตบอล เราอาจเคยเห็นฟอร์มการเล่นของทีมฟุตบอลระดับเทพหลายๆ ทีมที่ทุ่มไม่อั้นกับการซื้อตัวนักเตะฝีเท้าดี ทีมดาราทั้งหลาย ที่พอเอาระดับเทพมารวมตัวกัน ดันเล่นไม่ออก เกมห่วยผิดรูป ดังนั้น การทุ่มซื้อตัวผู้เล่นระดับเทพให้มาอยู่บนพื้นที่เดียวกัน อาจไม่ใช่ทางออกของการบริหารทีมให้เทพได้เสมอไป 

(3.) ภารกิจของการเป็นสมาชิกของทีม ไม่ว่าจะหน้าใหม่หรือหน้าเก่า หรือการเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของทีม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด สิ่งที่คุณต้องทำคือ พิสูจน์ตัวเอง ทำให้เขาเห็นว่าทำไมทีมต้องมีคุณ ต่อให้คุณมีคนโฆษณาผลงานให้สักร้อยคนก็ไม่เท่า ผลงานที่โชว์ให้โลกเห็นว่าสิ่งที่คุณทำ สิ่งที่คุณเป็น สำคัญยังไง เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับโอกาสที่ได้แสดงฝีมือด้วย

(4.) คนที่ถูกเลือกเข้าทีมอาจไม่จำเป็นต้องโดดเด่นกว่าใคร แต่ต้องมีความสามารถอุดรอยรั่วของทีมได้ มีผลงานที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะทำให้ทีมไปได้ไกลกว่าเดิม เรื่องนี้ต้องบอกว่า ถ้ามีสมาชิกเข้าร่วมทีมแล้วทำให้บรรยากาศในทีมสามารถผลักดันผลงานให้เห็นความแข็งแกร่งได้ยิ่งกว่าเดิมย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าฉุดให้ภาพรวมทั้งทีมเสีย อาจต้องพิจารณาใหม่

(5.) บางครั้ง ความสามารถในการคาดการณ์หรืออ่านขาด ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเสียเวลา เปล่าประโยชน์ อาจจะสร้างผลดีได้พอๆ กับคนที่คาดการณ์ได้ว่าทำอะไรแล้วเห็นผล เข้าเป้า เรื่องนี้ต้องฝึกฝน 

 

(6.) มีประสบการณ์และความสามารถในการหยั่งรู้อาจไม่พอ ต้องเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติเข้าไปด้วย เพื่อทำให้การคาดการณ์แม่นยำมากขึ้น แน่นอน ผลงานในอดีตสำคัญเสมอ แต่อย่าลืมสร้างผลงานในปัจจุบันด้วย

(7.) การพึ่งฮีโร่หรือพระเอกของทีมมากไปไม่ดี ต้องกระจายความเก่งให้ทั่วทั้งทีมให้ได้ เพราะเมื่อไรที่ทีมขาดฮีโร่ไปอาจทำให้สูญเสียความเป็นทีมได้ แน่นอนว่ามันจะกินเวลาชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วแต่ความสามารถในการปรับตัวจากการสูญเสียของคนในทีมด้วย เรื่องนี้บทบาทผู้นำค่อนข้างสำคัญ ผู้นำที่ดีมีผลต่อการผลักดันทีมให้เก่งขึ้น 

(8.) คนบางคนก็แค่ต้องการโอกาส ถ้ามันไม่ทำให้ใครจะเป็นจะตายขึ้นมา ก็ลองให้โอกาสคนอื่นบ้าง รวมถึงตัวเองด้วย อย่ารีบตัดสินคนมากไป 

(9.) ความปรารถนา ความมุ่งมั่นที่ต้องการเปลี่ยน แปลงฉากทัศน์ของเกมที่มีผู้เล่นที่พร้อมจะถูกค่ายใหญ่ทุ่มเงินซื้อตัวอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เราต้องสละความสะดวกสบายบางอย่างที่เราสามารถไขว่คว้ามาได้ง่ายๆ ข้อเสนอที่มาพร้อมโอกาสมากมายจะพิสูจน์เองว่าจุดยืนที่แท้จริงของคุณคือความต้องการกลายสภาพเป็นผู้เล่นราคาแพงรายหนึ่งเท่านั้น หรือจะยืนหยัดเป็นผู้เปลี่ยนเกมต่อไป 

เรื่องนี้ความมุ่งมั่นสำคัญมาก แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็พร้อมเปลี่ยนใจเพราะผลประโยชน์มันหอมหวาน

(10.) ทักษะในการเจรจาต่อรองนั้นสำคัญ เมื่อเรามีทรัพยากรไม่มากพอที่จะอยู่บนสนามแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ต้องเรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สิ่งที่คุ้มค่า

(11.) ความเปลี่ยนแปลงสร้างการต่อต้านเสมอ ค่อยๆ ไป ชัยชนะที่มาถึงช้า ความล้มเหลวซ้ำๆ ที่ต้องรับมือสะท้อนความแน่วแน่ของผู้คน

(12.) เรื่องนี้สะท้อนความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติมาก จงเรียนรู้ที่จะใช้ให้เป็น เพราะมันมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงเกมได้

Netflix: Moneyball

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา