คนไอทีถูกสร้างน้อยกว่าตลาดต้องการ 3 เท่า และมีแค่ 16.5% ที่มีคุณภาพ สวัสดี Thailand 4.0

Thailand 4.0 เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงตลอดในรัฐบาลชุดนี้ เพราะต้องการยกระดับประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรมใหม่ แต่อยากทำอะไรใหม่ๆ แล้วคนไม่พร้อมจะเริ่มได้อย่างไร โดยเฉพาะบุคลากรด้านไอทีที่ถือเป็นฐานรากของการเดินหน้านโยบายนี้

ภาพ pixabay.com

คนขาด 3 เท่าของความต้องการ และไร้คุณภาพ

พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บอกว่า ในแต่ละปีสถาบันการศึกษาไทยสามารถผลิตคนไอที โดยเฉพาะกลุ่ม Developer และ Programmer ได้เพียง 2,000 คน/ปี ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดต้องการถึง 3 เท่าตัว ประกอบกับคนเหล่านั้นจบออกมาแล้วมีคุณภาพ หรือไม่ต้องสอนอะไรมากก็ทำได้เลยแค่ 16.5% เท่านั้น ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ยังเสี่ยงสมองไหลออกไปต่างประเทศ ผ่านค่าตอบแทน และ Career Path ที่ดีกว่า ดังนั้นถ้าปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นต่อไป โอกาสที่ประเทศจะพัฒนาสู่ Thailand 4.0 ก็ยากขึ้น

“ต้องเข้าใจก่อนว่าสถาบันการศึกษาในประเทศไทยยังค่อนข้างเน้นปริมาณ มากกว่าคุณภาพ หรือการใส่ความรู้ให้เด็กเข้าไปมากๆ เผื่อจะเอาไปใช้ในอนาคต แต่สุดท้ายพอจบออกมาแล้ว ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ดังนั้นเวลาไปทำงานที่ไหน ก็ต้องหัดใหม่ และกว่าจะเป็นงานก็ต้องใช้เวลานาน แถมบางคนก็ไม่เก่งจริงเหมือนที่เรียน ประกอบกับฝั่งสายอาชีพก็ยังไม่สนับสนุนการเรียนเกี่ยวกับเรื่องไอทีเชิงลึก ดังนั้นคงไม่แปลกที่อาชีพสายไอทีจะขาดแคลนเป็น 3 อันดับแรก ใกล้เคียงกับนักบัญชี และพนักงานขาย แล้วไหนจะเรื่อง Entrepreneur ที่ทำให้คนไม่อยากเป็นลูกจ้างอีกด้วย”

พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

แก้ปัญหาที่สถาบัน กระตุ้นรัฐสนับสนุนจริงจัง

อย่างไรก็ตาม การเดินหน้านโยบายเกี่ยวกับการยกระดับเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีใหม่นั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต่างต้องการบุคลากรไอทีคุณภาพไปทำงานด้วย เพราะภายใน 5 ปีข้างหน้า โอกาสที่ 4 ใน 10 ของบริษัทที่ติดอยู่ในระดับท็อปของทุกอุตสาหกรรม เช่นไอที, สื่อต่างๆ, ค้าปลีก, การเงิน, โทรคมนาคม รวมถึงสถาบันการศึกษา จะถูกแทนที่ด้วย Digital Disruption ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน การกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐเข้ามากระตุ้นให้สถาบันการศึกษาสนับสนุนเรื่องการเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ก็จำเป็น จะพึ่งแค่เอกชนสนับสนุนก็ไม่ได้

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน ย้ำว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังเกตจากการลงทุนที่ยังเติบโต และการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีของภาครัฐ แต่ทั้งหมดนี้จะดีกว่าเดิม หากนโยบาย Digital Thailand รวมถึง Thailand 4.0 เดินไปอย่างถูกต้อง โดยบริษัทมีแผนที่จะร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เพื่อผลิตบุคลากรด้านไอทีที่มีคุณภาพออกมากว่า 30,000 คน ภายใน 5 ปีข้างหน้า หลังจากก่อนนี้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษากว่า 50 แห่ง เพื่อมอบความรู้ด้านไอทีที่ถูกต้องกับนักเรียน นักศึกษากว่า 40,000 คน

ภาพ pixabay.com

สรุป

คนไอทีกลายเป็นอีกปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วนนโยบายดิจิทัลในแง่มุมต่างๆ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องใส่ใจในเรื่องนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินหน้าเรื่องนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะมาหวังพึ่งเอกชนอย่างเดียวไม่ได้ หน่วยงานรัฐต้องลงทุนปูพรมความรู้เรื่องนี้ให้กับสถาบันการศึกษาด้วย

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา