ส่องธุรกิจห้องเก็บของให้เช่าที่ ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ หวังสร้างรายได้ปี 2024 แตะ 15 ล้านบาท

การใช้ชีวิตในเมืองช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือธุรกิจห้องเก็บของให้เช่า หรือ Self-Storage ที่เข้ามาตอบโจทย์คนเมืองที่ไม่มีพื้นที่เก็บของผ่านการอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่น้อย และธุรกิจดังกล่าวของ บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ หรือ LEO ให้มีรายได้กว่า 15 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนราว 15%

LEO Self Storage

ส่องธุรกิจห้องเก็บของให้เช่าในไทย

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ หรือ LEO เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจห้องเก็บของให้เช่าในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้ชีวิตในเมืองของคนไทยที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยว และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้บริการประเภทนี้เช่นกัน

“ไม่ใช่แค่คนอยู่คอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่น้อย และหันมาหาห้องเก็บของให้เช่า แต่กลุ่มองค์กรที่ต้องเก็บเอกสารไว้ 5 ปี ตามกฎหมาย ก็เริ่มเอาเอกสารมาเก็บไว้ที่เรา เพื่อนำพื้นที่สำนักงานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น รวมถึงบริษัทรับจัดงานที่นำของมาเก็บไว้ในเมืองเพื่อลดระยะทางในการขนอุปกรณ์ และนักท่องเที่ยวที่นำกระเป๋าใหญ่มาฝากไว้ด้วย”

ปัจจุบัน LEO ทำตลาดธุรกิจห้องเก็บของให้เช่าในชื่อ LEO Self Storage และ LEO ไม่ใช่ผู้เล่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้บริการดังกล่าว เพราะยังมี SCG JWD กลุ่มบริษัทร่วมทุนที่ให้บริการในลักษณะเดียวกัน รวมถึง WHA Group ที่ซื้อกิจการ i-Store Self Storage หนึ่งในผู้ให้บริการนี้กลุ่มแรกในไทย

LEO Self Storage

ขยายเพิ่มแห่งที่ 3 ดันรายได้แตะ 15 ล้านบาท

สำหรับ LEO ล่าสุดลงทุน 75 ล้านบาท เพื่อให้เปิด LEO Self Storage สาขาที่ 3 ที่พระราม 4 ต่อจากสาขาแรกที่พระราม 3 และสาขาที่ 2 ที่ไชน่าทาวน์ (ถ. เจริญกรุง) โดยสาขานี้เปิดมาเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มผู้อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม, องค์กรธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวเช่นเดิม

“ตอนนี้ลูกค้า 30% เป็นกลุ่มคนอยู่คอนโดมิเนียม และมันพิสูจน์ได้แล้วว่าธุรกิจนี้ไปได้ เพราะ Capacity ที่พระราม 3 อยู่ที่ 90% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่ไชน่าทาวน์อยู่ที่ 60% ซึ่งสาขาล่าสุดที่ลงทุน 75 ล้านบาท มีพื้นที่ 3,000 ตร.ม. และเบื้องต้นตั้งเป้ามีการใช้งาน 60% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี 2025”

ปี 2024 LEO ตั้งเป้ามีรายได้จากธุรกิจนี้ 15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ปิดที่ 13.6 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจ Non-Freight หรือธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่ง ให้มีรายได้เป็นสัดส่วน 30% เพราะสิ้นไตรมาส 1 ปี 2024 LEO มีรายได้ 98% มาจากการขนส่งทางเรือ, ขนส่งทางอากาศ และบริการขนส่งครบวงจร

LEO Self Storage

2025 เปิดเพิ่มอีก 2 สาขา ลงทุน 70-80 ล้านบาท

เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว LEO วางแผนลงทุนเปิด LEO Self Storage อีก 2 สาขา สาขาละ 70-80 ล้านบาท โดยแต่ละสาขาต้องมีพื้นที่ที่สร้างรายได้ หรือ Net Lettable Area: NLA อย่างน้อย 1,000 ตร.ม. รวมถึงเตรียมพัฒนาเฟสที่สองของสาขาไชน่าทาวน์ เพื่อเพิ่มบริการเก็บไวน์ผ่านห้องปรับอากาศ แต่ยังไม่กำหนดงบประมาณ

ขณะเดียวกัน LEO อยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์เพื่อสร้างกิจการร่วมทุน หรือ Joint Venture ในการสร้างบริการดังกล่าวให้เติบโต รวมถึงพัฒนาการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์ที่บริษัทจะให้เครื่องมือในการบริหารจัดการ ส่วนคู่ค้าจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

“ธุรกิจพื้นที่เก็บของทั่วไปในกรุงเทพทำได้ 250-350 บาท/ตร.ม แต่ Self-Storage ของเราทำได้ 700-1,000 บาท/ตร.ม. ประกอบกับธุรกิจพื้นที่เก็บของทั่วไปมีอัตรากำไร 17-25% และ Self-Storage อยู่ที่ 45-50% ผ่านการใช้คนที่น้อยกว่า และใช้ไอทีเข้ามาควบคุมงาน”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา