บุกรังผลิต “ลีโอ” พิสูจน์รสเปลี่ยน หรือ อุปาทาน

หลายคนทราบกันแล้วว่า “ลีโอ” เปลี่ยนฉลากใหม่ เพิ่มพื้นที่สีแดงมากขึ้น แต่ก็มีกระแสจากมวลชนชาวลีโอเข้ามาว่า รสชาติจืดจางลงหรือไม่

ทีมงาน Brand Inside มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องดื่มลีโอที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงก่อนปีใหม่ เข้าชมกระบวนการผลิตอย่างใกล้ชิด และสอบถามเจ้าหน้าที่ของลีโอในเรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันกับเราว่า รสชาติคงเดิม เปลี่ยนแค่ฉลากเท่านั้นเอง

“ที่สับสนกันเพราะในท้องตลาดมีเครื่องดื่มขายทั้งฉลากเก่าและใหม่อยู่ด้วยกัน ในการเปลี่ยนฉลากทำได้ทีละไลน์การผลิต จึงอาจมีสินค้าสองเวอร์ชั่นออกสู่ตลาดไป แต่ยังคงยืนยันรสชาติเดิม”

ทางเจ้าหน้าที่ยังฝากถึงผู้ค้า-ร้านขายปลีกด้วยกว่า การเก็บรักษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเก็บไว้นานไม่ได้ เก็บไว้ในที่ร้อนไม่ได้ เคลื่อนย้ายรุนแรงไม่ได้ ที่สำคัญไม่ควรสั่งมาขายเยอะกว่าที่ขายจริง เพราะถ้าเหลือและเก็บไว้นานเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะส่งผลต่อรสชาติโดยตรง เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงง่ายมาก การเก็บรักษาก่อนถึงมือผู้บริโภคจึงสำคัญที่สุด

อยากรู้ว่าคงเดิมจริงหรือไม่ ไปดูของจริงเลยดีกว่า

โรงงานที่เราจะเข้าไปดูคือ บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด ตัวโรงงานตั้งอยู่ที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง อยู่ไม่ห่างจากสนามกอล์ฟสิงห์ปาร์คมากนัก ทันทีที่เราเข้าไปในตัวอาคาร สิ่งแรกที่เจอคือ อนุสาวรีย์พระยาภิรมย์ภักดี หรือ บุญรอด เศรษฐบุตร ผู้ให้กำเนิดเครื่องดื่มสิงห์นั่นเอง

เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการผลิตเล่าให้ฟังว่าเดิมทีโรงงานนี้ผลิตเครื่องดื่มหลายยี่ห้อ ในอดีตเคยผลิตเครื่องดื่มสิงห์ ซูเปอร์ลีโอ ไทยเบียร์ อีสานเบียร์ และ Mittweida แต่ตอนนี้คงการผลิตไว้แค่เครื่องดื่มลีโอ โซดา และน้ำดื่ม

ทุกวันนี้ บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ ผลิตเครื่องดื่มเป็นปริมาณมหาศาล สามารถผลิตได้ 700 ล้านลิตร/ปี ผลิตในความเร็ว 4 หมื่นขวด/ชั่วโมง คิดเป็น 4 ล้านขวด/วัน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถพาเข้าไปดูในทุกขั้นทุกตอนได้ แต่ก็พาไปดูจุดสำคัญ เช่นการหมัก การเคี่ยว การบรรจุขวด และทันทีที่เข้าไปในโรงงานชั้นใน จะเห็นถังเก็บเบียร์เด่นเป็นตระหง่านบนหลังคาอาคาร ไว้เก็บเบียร์ก่อนที่จะบรรจุขวดโดยภายในตัวอาคารจะมีท่อรูปกรวยต่อลงมาจากถังใหญ่ด้านบน

ด้านใต้ถังเก็บ

ระหว่างพาดูด้านใต้ถังเก็บ เจ้าหน้าที่ให้ชิมเบียร์จากถังก่อนนำไปบรรจุขวด เพื่อเป็นการยืนยันว่ารสชาติคงเดิมแม้เปลี่ยนฉลากใหม่ เราพบว่ายังคงรสชาติเดิมจริงๆ

ขั้นตอนและส่วนผสมการผลิตสูตรเฉพาะของโรงงานลีโอ

วัตถุดิบสำคัญในการผลิตเบียร์มี มอลท์ ข้าว ฮอป ยีสต์ และน้ำ เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้มอลท์จากข้าวบาร์เลย์จากยุโรป ทวีปอเมริกา ออสเตรเลีย และจีนตอนบน ส่วนข้าวใช้ของไทย ส่วนหนึ่งรับซื้อจากชาวนา เฉพาะในขอนแก่นก็ต้องใช้ข้าวกว่า 4 หมื่นตัน/ปี ส่วนฮอปใช้จากยุโรป ยีสต์ใช้สายพันธุ์ที่ใช้เฉพาะในเครือบริษัทบุญรอดเท่านั้น นำเข้าจากต่างประเทศและนำมาขยายพันธุ์เอง องค์ประกอบสุดท้ายคือน้ำ ที่เป็นส่วนประกอบถึง 90% ทางโรงงานจำเป็นต้องควบคุมการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ขั้นตอนการผลิตโดยคร่าวๆ คือบดมอลท์ให้แตก ใส่น้ำเข้าไปต้มเพื่อกระตุ้นเอนไซม์ เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ได้ของเหลวที่จะนำไปกรองกำจัดกาก จากนั้นนำไปต้มต่อ กรองโปรตีนออก ทำให้เย็น สูบเข้าถังพักเพื่อนำไปหมักต่อไป ในขั้นตอนนี้เองที่จะใส่ยีสต์ที่ใช้เฉพาะในเครือบุญรอด ให้ยีสต์เปลี่ยนน้ำตาลมอลท์เป็นแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์

เสร็จจากกระบวนการขั้นต้นแล้วจะได้ เบียร์อ่อน นำไปบ่มและควบคุมด้วยแรงดันก็จะได้เบียร์สด นำไปบรรจุในถัง 30 ลิตรขายได้เลย ไม่อย่างนั้นก็นำไปพาสเจอไรส์ต่อ ก่อนนำไปบรรจุขวดและกระป๋องอีกที

ในห้องนี้มีหม้อขนาดใหญ่ไว้ทำหลายขั้นตอน ทั้ง โม่ ผสม กรอง เคี่ยว
ในภาพนี้คือกำลังเคี่ยว

ในห้องนี้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์และสูตรที่คำนวณโดยคอมพิวเตอร์ในการทำงานทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดรสชาติคือเติมยีสต์ เพื่อให้สม่ำเสมอ ทุกถังจึงควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนสูตรจึงทำได้ทางเดียวคือ เข้าไปเปลี่ยนสูตรในระบบเท่านั้น

ห้องควบคุมการทำงาน

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการผลิตเครื่องดื่มคือ การจัดการน้ำ โดยทั่วไปคือพยายามลดการใช้น้ำ มีการบำบัดน้ำอย่างเต็มที่ และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดเวลา

กากอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ในโรงงานมีกากเยอะไม่ว่าจะเป็น กากข้าวมอลท์ กากยีสต์เปียก เชื้อตะกอนบำบัด แป้งกรองเบียร์ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียของ ทางโรงงานจะแจกจ่ายออกไปให้เกษตรกรไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ย ส่วนแป้งกรองเบียร์ที่เอาไปใช้งานต่อยาก ล่าสุดค้นพบการผลิตขวดจากแป้งกรองเบียร์ได้แล้ว

เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์สุดพิเศษจริงๆ ที่นอกจากจะได้ทัวร์โรงงานลีโอที่คนไทยชื่นชอบแล้ว ยังได้ความรู้การทำเบียร์ และที่สำคัญคือได้มาพิสูจน์ให้เห็นในสถานที่จริงว่า รสชาติลีโอยังคงเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา