ศึกโรงเรียนสอนทำอาหารเดือด! กลุ่มอิมแพ็ค ลงทุน 1,000 ล้านบาท ดึงโรงเรียน เลอโนท มาไทย

เปิดศึกโรงเรียนสอนทำอาหาร บมจ. บางกอกแลนด์ เจ้าของอิมแพ็ค ลงทุน 1,000 ล้านบาท ดึง เลอโนท ตั้งสาขาในประเทศไทย ชิงดำลูกค้าไทยจาก เลอ กอร์ดองเบลอ และหวังกวาดลูกค้าทั้งทวีปเอเชีย

Lenotre

อิมแพ็ค ดึง เลอโนท บุกไทย

พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บางกอกแลนด์ เล่าให้ฟังว่า บริษัทได้ทำสัญญากับ เลอโนท ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำโรงเรียนสอนทำอาหารชั้นนำของโลกมาเปิดให้บริการที่ประเทศไทยในชื่อ เลอโนท ประเทศไทย หรือ Lenôtre Culinary Arts School Thailand

การเปิด เลอโนท ประเทศไทย บางกอกแลนด์ ใช้เงินลงทุน 800-1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงเรียนบริเวณพื้นที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี กินพื้นที่กว่า 4,000 ตร.ม. ครอบคลุมการสร้างอาคารเรียน และระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เปิดสอนทั้งหลักสูตรระยะยาวที่ได้ประกาศนียบัตรใช้เวลา 520-840 ชม. และระยะสั้น 4 ชม. ขึ้นไป

“เลอโนท ประเทศไทย จะตอบโจทย์ผู้สนใจทำอาหารในภูมิภาคเอเชีย ไม่ต้องบินไกลไปเรียนถึงยุโรป ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ที่สำคัญรูปแบบการเรียน การสอนเป็นตามแนวทางที่ เลอโนท ปารีส กำหนด จึงมั่นใจได้ว่ามาเรียนที่ เลอโนท ประเทศไทย เสมือนได้บินไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส”

โรงเรียนสอนทำอาหารแห่งแรกในฝรั่งเศส

เลอโนท คือโรงเรียนสอนอาหารทางการแห่งแรกในฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี 1971 ปัจจุบันมีผู้เรียนกว่า 6,900 คน/ปี และผลิตเชฟฝีมือชั้นนำของโลกออกมามากมาย และประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่ เลอโนท มาเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารนอกประเทศฝรั่งเศส

ในทางกลับกัน บางกอกแลนด์ มีการลงทุนธุรกิจอาหารในเครือไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท เช่น การยกระดับบริการจัดเลี้ยง รวมถึงปรับเมนูต่าง ๆ ของร้านอาหารในเครือ อาทิ ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน, สึโบฮาจิ และ บรีซ คาเฟ่ แอนด์ บาร์ ดังนั้นการลงทุนเปิด เลอโนท ประเทศไทย จึงเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินมูลค่าตลาดธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารไทยเมื่อปี 2011 อยู่ราว 250 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ดังนั้นหากรวมเอาธุรกิจสอนทำอาหารนานาชาติ และขนมอบเข้าไป รวมถึงระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ปี มูลค่าตลาดธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารจะต้องมีมูลค่ามากกว่านี้แน่นอน

โรงเรียนสอนทำอาหารที่การแข่งขันเดือด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เชฟ กลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน และเรตติ้งรายการทำอาหารที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนทั่วไปมีความสนใจสมัครเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหารมากขึ้น ประกอบกับฝั่งโรงเรียนสอนทำอาหารเริ่มปรับตัวเอง เช่น จากเดิมมีแค่หลักสูตรระยะยาว ปัจจุบันมีการเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์บุคคลทั่วไปมากขึ้น

ส่วนภาพรวมตลาดโรงเรียนสอนทำอาหารที่มาจากต่างประเทศในไทย เลอ กอร์ดองเบลอ คือชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเปิดให้บริการมานาน และผลิตเชฟในประเทศไทยมาจำนวนมาก รวมถึงมีโรงเรียนของคนไทย และโรงเรียนทำอาหารขนาดเล็กที่เน้นสอนแค่กลุ่มย่อย

แต่ถึงตลาดจะเปิดกว้าง แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นรายหนึ่งหายไปคือ Culineur ที่เป็นการลงทุนโดยกลุ่มซีพี ผ่านการเปิดโรงเรียนที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม แม้จะเปิดมาเมื่อปี 2018 เพื่อเกาะกระแสการทำอาหารที่กำลังเติบโต แต่ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอาจประสบปัญหาจนต้องหยุดไว้ก่อน

สรุป

โรงเรียนสอนทำอาหารถือเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจในตอนนี้ เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการทำอาหารเองมากขึ้น สังเกตจากการที่โรคโควิด-19 ทุกคนเริ่มอยากเรียนรู้การทำอาหาร และอยากมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรโรงเรียนสอนทำอาหารชั้นนำค่อนข้างมีค่าเรียนที่สูง ซึ่งต้องดูกันว่ากลุ่มที่กำลังซื้อมีปัญหาจะกล้าจ่ายหรือไม่

อ้างอิง // KBank

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา