เปิดศึกโรงเรียนสอนทำอาหาร บมจ. บางกอกแลนด์ เจ้าของอิมแพ็ค ลงทุน 1,000 ล้านบาท ดึง เลอโนท ตั้งสาขาในประเทศไทย ชิงดำลูกค้าไทยจาก เลอ กอร์ดองเบลอ และหวังกวาดลูกค้าทั้งทวีปเอเชีย
อิมแพ็ค ดึง เลอโนท บุกไทย
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บางกอกแลนด์ เล่าให้ฟังว่า บริษัทได้ทำสัญญากับ เลอโนท ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำโรงเรียนสอนทำอาหารชั้นนำของโลกมาเปิดให้บริการที่ประเทศไทยในชื่อ เลอโนท ประเทศไทย หรือ Lenôtre Culinary Arts School Thailand
การเปิด เลอโนท ประเทศไทย บางกอกแลนด์ ใช้เงินลงทุน 800-1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงเรียนบริเวณพื้นที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี กินพื้นที่กว่า 4,000 ตร.ม. ครอบคลุมการสร้างอาคารเรียน และระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เปิดสอนทั้งหลักสูตรระยะยาวที่ได้ประกาศนียบัตรใช้เวลา 520-840 ชม. และระยะสั้น 4 ชม. ขึ้นไป
“เลอโนท ประเทศไทย จะตอบโจทย์ผู้สนใจทำอาหารในภูมิภาคเอเชีย ไม่ต้องบินไกลไปเรียนถึงยุโรป ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ที่สำคัญรูปแบบการเรียน การสอนเป็นตามแนวทางที่ เลอโนท ปารีส กำหนด จึงมั่นใจได้ว่ามาเรียนที่ เลอโนท ประเทศไทย เสมือนได้บินไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส”
โรงเรียนสอนทำอาหารแห่งแรกในฝรั่งเศส
เลอโนท คือโรงเรียนสอนอาหารทางการแห่งแรกในฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อปี 1971 ปัจจุบันมีผู้เรียนกว่า 6,900 คน/ปี และผลิตเชฟฝีมือชั้นนำของโลกออกมามากมาย และประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่ เลอโนท มาเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารนอกประเทศฝรั่งเศส
ในทางกลับกัน บางกอกแลนด์ มีการลงทุนธุรกิจอาหารในเครือไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท เช่น การยกระดับบริการจัดเลี้ยง รวมถึงปรับเมนูต่าง ๆ ของร้านอาหารในเครือ อาทิ ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน, สึโบฮาจิ และ บรีซ คาเฟ่ แอนด์ บาร์ ดังนั้นการลงทุนเปิด เลอโนท ประเทศไทย จึงเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจนี้
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินมูลค่าตลาดธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารไทยเมื่อปี 2011 อยู่ราว 250 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ดังนั้นหากรวมเอาธุรกิจสอนทำอาหารนานาชาติ และขนมอบเข้าไป รวมถึงระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ปี มูลค่าตลาดธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารจะต้องมีมูลค่ามากกว่านี้แน่นอน
โรงเรียนสอนทำอาหารที่การแข่งขันเดือด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เชฟ กลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน และเรตติ้งรายการทำอาหารที่สูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนทั่วไปมีความสนใจสมัครเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหารมากขึ้น ประกอบกับฝั่งโรงเรียนสอนทำอาหารเริ่มปรับตัวเอง เช่น จากเดิมมีแค่หลักสูตรระยะยาว ปัจจุบันมีการเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์บุคคลทั่วไปมากขึ้น
ส่วนภาพรวมตลาดโรงเรียนสอนทำอาหารที่มาจากต่างประเทศในไทย เลอ กอร์ดองเบลอ คือชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะเปิดให้บริการมานาน และผลิตเชฟในประเทศไทยมาจำนวนมาก รวมถึงมีโรงเรียนของคนไทย และโรงเรียนทำอาหารขนาดเล็กที่เน้นสอนแค่กลุ่มย่อย
แต่ถึงตลาดจะเปิดกว้าง แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นรายหนึ่งหายไปคือ Culineur ที่เป็นการลงทุนโดยกลุ่มซีพี ผ่านการเปิดโรงเรียนที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม แม้จะเปิดมาเมื่อปี 2018 เพื่อเกาะกระแสการทำอาหารที่กำลังเติบโต แต่ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอาจประสบปัญหาจนต้องหยุดไว้ก่อน
สรุป
โรงเรียนสอนทำอาหารถือเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจในตอนนี้ เพราะผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการทำอาหารเองมากขึ้น สังเกตจากการที่โรคโควิด-19 ทุกคนเริ่มอยากเรียนรู้การทำอาหาร และอยากมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรโรงเรียนสอนทำอาหารชั้นนำค่อนข้างมีค่าเรียนที่สูง ซึ่งต้องดูกันว่ากลุ่มที่กำลังซื้อมีปัญหาจะกล้าจ่ายหรือไม่
อ้างอิง // KBank
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา