FinTech ชีวิตไม่ง่าย – Lending Club เริ่มประสบปัญหาความเชื่อมั่นจากผู้ให้กู้

Lending Club ผู้นำตลาดเงินกู้แบบ Peer-to-Peer Lending ที่ได้ดิบได้ดีจนเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นต้นแบบของบริษัท Fintech ด้านเงินกู้ทั่วโลก กำลังตกที่นั่งลำบากมาได้พักใหญ่ๆ แล้ว และสถานการณ์ดูยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก

โมเดลของ Lending Club คือเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้กู้ (investor) และผู้ขอกู้ (borrower) โดยใช้อัลกอริทึมทางคอมพิวเตอร์ประเมินเครดิตความน่าเชื่อถือของผู้ขอกู้ จากนั้นก็เปิดให้เจ้าของเงิน (investor) เลือกดูคำขอกู้แต่ละรายการเพื่อพิจารณาปล่อยกู้ได้ ตามอัตราดอกเบี้ยที่ Lending Club กำหนด รายได้ของบริษัทมาจากการกินค่าธรรมเนียมของการปล่อยกู้แต่ละครั้ง ซึ่งแตกต่างกันไปตามอัตราดอกเบี้ย

เงินกู้ในระบบของ Lending Club มักเป็นเงินกู้ก้อนเล็กๆ ให้กับผู้ขอกู้รายย่อย (ไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์) มีระยะเวลาชำระคืน 3-5 ปี โมเดลกู้เงินแบบ P2P ถูกมองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกการเงินยุค FinTech ที่จะมาเปลี่ยนแปลงระบบการปล่อยกู้แบบดั้งเดิม

lending club

ปัญหาของ Lending Club เริ่มต้นในช่วงต้นปี 2016 นี้ บริษัทเริ่มมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องจากนักลงทุน (investor ในที่นี้หมายถึงคนที่ให้ Lending Club กู้เงินไปปล่อยกู้ต่อ) จนต้องขึ้นดอกเบี้ยการให้กู้เงินกับลูกค้าของบริษัท

แต่ด้วยปัจจัยภายนอกอย่างเดียวยังไม่พอ ปัจจัยภายในก็ตามมาซ้ำเติม เพราะผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Renaud Laplanche ยังมีปัญหาเรื่องไม่ยอมเปิดเผยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนในกองทุนที่ Lending Club จะเข้าไปลงทุน จนเป็นเหตุให้ความเชื่อมั่นหดหาย และบอร์ดสั่งปลดเขาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

lending-club-logo

ซีอีโอคนใหม่ Scott Sanborn เข้ามาทำงานได้ไม่นาน ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นได้ จนล่าสุดบริษัทต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีกครั้ง แน่นอนว่าความเชื่อมั่นของนักลงุทนยิ่งลดลงไปอีก และโมเดลธุรกิจของ Lending Club ก็เริ่มถูกตั้งคำถามแล้วว่าจะไปได้แค่ไหนในระยะยาว

การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้รอบนี้ มีผลกับกลุ่มผู้ขอกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (ระดับ F-G ซึ่งในระบบของ Lending Club ให้กลุ่ม A มีความเสี่ยงน้อยที่สุด กลุ่ม G เสี่ยงสูงสุด) บริษัทยอมรับว่าทำผลงานในสองไตรมาสแรกของปี 2016 ได้ไม่ดีนัก แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องปกติที่บริษัททำมาโดยตลอด และยืนยันว่าผู้กู้กลุ่มความเสี่ยงสูง (F-G) มีสัดส่วนเงินกู้เพียง 12% ของธุรกรรมเงินกู้ทั้งหมดที่วิ่งผ่าน Lending Club เท่านั้น บริษัทยังประเมินว่าการปรับเรตครั้งนี้จะช่วยให้เงินปล่อยกู้ช่วงถัดจากนี้ไปมีผลงานดีขึ้น

ปัญหานี้เป็นความท้าทายเดียวกับสถาบันการเงินกลุ่มดั้งเดิม ที่มีโอกาสไม่ปล่อยเงินให้ผู้ขอกู้กลุ่มเสี่ยง

ที่มา – เอกสารของ Lending ClubBloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา