ชวนอ่านจดหมายเปิดผนึกของ Lei Jun CEO ของ Xiaomi ชายผู้เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเหมือนการอัพเดทเวอร์ชัน Flash Rom บนโทรศัพท์มือถือ
ถ้าพูดถึงบริษัทเทคโนโลยีที่ผลิตสินค้าสุดอัจฉริยะหลากหลายประเภท ทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก และของใช้ภายในบ้าน เชื่อว่าหลายคนคงต้องนึกถึง Xiaomi เป็นอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน เพราะด้วยความที่สินค้าของ Xiaomi มีความทันสมัย สเป็คดี ออกแบบสวย และราคาเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน ทำให้บางคนถึงกับบอกว่า “พระเจ้าสร้างโลก แต่ที่เหลือ Xiaomi สร้าง”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Xiaomi เพิ่งจะเปิดเผยแผนในการก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล และจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในปี 2023 หรือในอีก 2 ปีนับจากนี้
หลังจากที่ Xiaomi เปิดเผยแผนการก้าวมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Lei Jun ซึ่งเป็น CEO ของ Xiaomi ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของเขาลงบนบัญชี WeChat อย่างเป็นทางการ โดยใจความส่วนหนึ่งเล่าถึงการลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.13 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ โดยมีการลงทุนระยะแรกไปแล้ว 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
ทำไม Xiaomi จึงสนใจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ข้อความในจดหมายเปิดผนึกของ Lei Jun ได้มีการพูดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Xiaomi สนใจลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตัว Lei Jun ได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ซึ่งนั่นเองเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ตัวเขาเริ่มให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ Xiaomi ไม่ได้สนใจที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก จนกระทั่งวันที่ 15 มีนาคม 2021 นี้ ที่ Xiaomi ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นมองธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง แม้ตอนแรก Xiaomi มีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับ 3 ของโลกอีกครั้ง การให้ความสนใจกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อาจกลายเป็นสิ่งที่รบกวนเป้าหมายเดิมที่วางไว้ก็ได้
สาเหตุที่ทำให้ Xiaomi ตัดสินใจลงสู่การแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทันที เป็นเพราะ “หากไม่ทำ ก็จะโดนคู่แข่งแซง และสุดท้ายก็จะตามคู่แข่งไม่ทัน” ท่ามกลางคำแนะนำของผู้ที่อยู่ในวงการว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นเรื่องซับซ้อนมาก ต้องอาศัยการลงทุนในระยะยาว กว่าจะได้ผลตอบแทนต้องใช้เวลา แถม Xiaomi ก็เหมือนเป็นคนนอกของอุตสาหกรรมรถยนต์ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาที่คนอื่นๆ ทำมาแล้ว 5-6 ปีได้
แต่ในที่สุด Xiaomi ก็ตัดสินใจลงสู่การแข่งขันในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของบริษัท Lei Jun เปรียบเทียบว่า ในวันที่ Xiaomi เริ่มผลิตโทรศัพท์มือถือ วันนั้น Xiaomi ยังไม่มีอะไรเลย ต่างจากคู่แข่งที่ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ แต่ในที่สุดปาฎิหาริย์ก็เกิดขึ้น Xiaomi กลายเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 500 อันดับแรก ต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาก
จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต Lei Jun เหมือนการอัพเดทเวอร์ชันโทรศัพท์มือถือ
นอกจากเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว Lei Jun ยังได้เล่าถึงช่วงเวลาความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะก่อตั้ง Xiaomi โดยเปรียบเทียบความเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงในชีวิตแต่ละช่วง เหมือนกับการ Flash Rom อัพเดทเวอร์ชันของโทรศัพท์มือถือ
จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรก: ข้อมูลหาย ไม่มีทางเลือกให้หันหลังกลับอีกแล้ว
Lei Jun เล่าว่า การ Flash Rom ครั้งแรกของเขา เกิดขึ้นเมื่อปี 1998 ขณะที่เขาทำงานที่บริษัท Kingsoft และผู้บริหารต้องการตั้งเขาเป็น General Manager ของบริษัท ซึ่งเขาก็ไม่ได้อยากรับงานระดับบริหารมากนัก จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ที่ทำให้เขากล้าที่จะตัดสินใจก้าวสู่การเป็นผู้บริหาร และทิ้งงานการเขียนโปรแกรมในที่สุด
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Lei Jun เกิดจากความโชคร้ายที่เพื่อนร่วมงานของเขาเผลอฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ของเขาทั้งหมด โดยที่ไม่ได้สำรองข้อมูลไว้เลย โค้ดโปรแกรมที่เขาเขียนไว้ในช่วงเวลาหลายปี หายไปกับตาในเวลาไม่กี่นาที สิ่งนี้ทำให้เขาตัดสินใจทำให้เขาลองรับตำแหน่ง General Manager ซึ่งเป็นการบังคับให้เขาต้องเรียนรู้งานบริหาร การตลาด และการขายไปในตัว
จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งที่สอง: ก่อตั้งบริษัทของตัวเอง
หลังจากที่ Lei Jun ออกจากบริษัท Kingsoft ในปี 2000 เขาได้ตัดสินใจลงทุนก่อตั้ง Joyo.com บริษัท e-Commerce ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีนในเวลานั้น แม้ในท้ายที่สุดแล้วประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการของเขาจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนต้องยอมขาย Joyo.com ให้กับ Amazon และกลายเป็น Amazon China ในที่สุด
สาเหตุที่ทำให้ Joyo.com ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะการระดมทุนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในยุคนั้น Lei Jun จึงตั้งเป้าหมายที่จะผันตัวเองเป็นนักลงทุนที่ให้เงินสนับสนุนผู้ทำ Start Up ในประเทศจีน
จุดเปลี่ยนสำคัญครั้งที่สาม: ภารกิจกู้ยอดขายโทรศัพท์มือถือ Xiaomi
Xiaomi เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 11 ปี พอดิบพอดี และ Xiaomi ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้งในช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมา Xiaomi ก็เคยพลาดให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ในตลาด จนในที่สุดในปี 2016 Lei Jun ตัดสินใจที่จะกลับมาเป็นผู้ควบคุมการผลิตโทรศัพท์มือถือของ Xiaomi ด้วยตัวเองอีกครั้ง เพื่อกู้ยอดขายโทรศัพท์มือถือให้กลับมาอยู่ในระดับ Top 3 ให้ได้
หลังจากผ่านไป 5 ปี Lei Jun ก็ลองผิดลองถูก และทำให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือของ Xiaomi กลับมาอยู่ในระดับ Top 3 ได้สำเร็จในที่สุด โดย Xiaomi สามารถส่งมอบโทรศัพท์มือถือได้ 42.3 ล้านเครื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2020 ที่ผ่านมา
ทุกการ Flash Rom สร้างบทเรียนให้ชีวิตของ Lei Jun
จุดเปลี่ยนในชีวิตทั้ง 3 ครั้ง ของ Lei Jun นับว่าเป็นบทเรียนให้กับชีวิต จากโปรแกรมเมอร์ สู่ผู้บริหาร สู่เจ้าของกิจการ และนักลงทุน มอบบทเรียนให้กับ Lei Jun อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความกล้า ความมุ่งมั่น การรู้จักเรียนรู้ และความอดทนต่อความเจ็บปวด
ทุกครั้งที่ Lei Jun ก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ๆ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกครั้งในชีวิต เขาจะนึกไว้เสมอว่า “ความรู้ ประสบการณ์ ชื่อเสียง และคำชื่นชมเก่าๆ จะหายไป สิ่งเดียวที่คุณจะยึดถือได้คือหัวใจที่ไม่รู้จักย่อท้อ”
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้ง 3 ครั้งในชีวิต เขาก็คงไม่สามารถเป็น Lei Jun ในวันนี้ ที่ผ่านการ Flash Rom อัพเดทเวอร์ชันในโทรศัพท์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
การก้าวเข้ามาสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ของ Xiaomi ก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ของ Lei Jun ในฐานะ CEO แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนของ Xiaomi อีกด้วย โดย Lei Jun เองก็ยอมรับว่า “นี่อาจเป็นโปรเจคใหญ่ๆ ครั้งสุดท้าย ในฐานะการทำงานเป็นผู้ประกอบการของเขา”
ที่มา – Kr-Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา