ทำไม Chanel ถึงจะตั้ง CEO คนใหม่ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในวงการแฟชั่นมาก่อน?

Chanel ตั้ง Leena Nair เป็น CEO คนใหม่ เคยทำงานด้าน HR กว่า 30 ปี แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านแฟชั่น ทำไม Chanel เลือกคนที่เก่งเรื่องคนมาเป็น CEO? ติดตามได้ในบทความ

CEO ใหม่ Chanel คือผู้คร่ำหวอดในวงการ HR กว่า 30 ปี

Chanel แบรนด์แฟชั่นหรูสัญชาติฝรั่งเศส ประกาศแต่งตั้ง Leena Nair เป็น CEO คนใหม่ของบริษัท ตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ต่อจาก Alain Wertheimer ผู้เป็น CEO และเจ้าของบริษัทคนปัจจุบัน

โดย Alain Wertheimer จะขยับไปเป็น Executive Chairman ของบริษัทในปีหน้าทำให้ตำแหน่ง CEO ว่างลง Chanel จึงต้องดึง Leena Nair ซึ่งปัจจุบันเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (CHRO) ของ Unilever ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้แทน

สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยปกติแล้ว ธุรกิจแฟชั่นระดับไฮเอนด์มักจะไม่นิยมจ้างผู้บริหารระดับสูงจากนอกอุตสาหกรรม และมักจะนิยมแต่งตั้งคนในวงการมากกว่า โดยเฉพาะในแบรนด์ที่อาณาจักรธุรกิจของตระกูล (เช่น Chanel) ก็มักจะแต่งตั้งคนในมากกว่าคนนอก

คำถามคือ ทำไม Chanel ถึงแต่งตั้งคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในวงการแฟชั่นเป็น CEO คนใหม่ของบริษัท? 

วันนี้ Brand Inside จะพาทุกท่านไปดูประวัติที่ไม่ธรรมดาของ Leena Nair ไขข้อสงสัยว่าทำไมเธอถึงถูกวางตัวเป็นผู้กุมบังเหียนของหนึ่งในแบรนด์หรูชื่อก้องโลกอย่าง Chanel

Chanel มองถึงความมั่นคงระยะยาว

Chanel แถลงว่า การตั้ง CEO คนใหม่ในครั้งนี้ จะช่วยการันตีความสำเร็จของบริษัทในระยะยาว และยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่าวิสัยทัศน์และความสามารถของ Leena Nair จะช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในระยะยาวควบคู่ไปกับผลลัพธ์ในการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง

chanel
ภาพจาก Shutterstock

บริษัทอธิบายต่อว่า สาเหตุที่เลือก Leena Nair เป็น CEO คนใหม่เพราะเธอมีชื่อเสียงในระดับโลกในสไตล์การนำแบบหัวก้าวหน้าและยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมาจากประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับคนกว่า 30 ปี ที่ Unilever 

Leena Nair เริ่มต้นทำงานที่ Unilever ตั้งแต่ปี 1992 ในฐานะ Management Trainee ในโรงงาน Lipton ในอินเดีย และหลังนั้น 4 ปี เธอก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นผู้จัดการฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ของ Hindustan Unilever Limited ก่อนที่จะถูกแต่งตั้งเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลในปี 2000 

หลังจากนั้นเธอก็ได้ไต่ตำแหน่งระดับสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้ง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ รองประธานอวุโสฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของ Unilever ภูมิภาคเอเชียใต้ และหัวหน้าฝ่ายความหลากหลายและบริหารความแตกต่าง 

จนในปี 2016 เธอก็ได้ขึ้นเป็น ประธานกรรมการบริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล (CHRO) ของ Unilever ทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน

ที่น่าจับตาก็คือ เธอคือ CHRO ผู้หญิงคนแรก เป็นชาวเอเชียคนแรก และยังมีอายุน้อยที่สุด โดยมีหน้าที่จัดการชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานมากกว่า 160,000 คนทั่วโลก

โดยภายใต้การทำงานของเธอ บริษัทบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในการดำเนินงานของบริษัททั่วโลก และยังเพิ่มค่าแรงให้พนักงานทั้งสายพานการผลิตให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพ

Future of Work คนทำงานจะสำคัญมากขึ้น ธุรกิจต้องตระหนัก

ทิศทางการบริหารของ Chanel สอดคล้องกับโลกของการทำงานสมัยใหม่ (Future of Work) ที่ทุกวันนี้สังคมให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติของบริษัทต่อพนักงานอย่างเคารพนับถือในความเป็นมนุษย์ และต่อต้านบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพของคนทำงานมากขึ้น

และภายในโลกที่คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงสิทธิและคาดหวังว่าบริษัทจะต้องมองพนักงานมากกว่าเครื่องจักรแต่ต้องปฎิบัติต่อพนักงานอย่างเหมาะสม บริษัทที่ไม่สนใจใยดีต่อผู้คนก็จะหมดความดึงดูดในการดึงดูดแรงงานพรสวรรค์ให้เข้ามาร่วมทำงานและทำงานต่อในระยะยาว

ในแง่นี้ การบริหารแบบมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงกลายเป็นความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในระยะยาวไปจนถึงความอยู่รอด

สไตล์การนำแบบที่มองพนักงานในฐานะมนุษย์จากประสบการณ์ที่ตกผลึกจากการทำงานมากว่า 30 ปี ของ Leena Nair จึงกลายเป็นสิ่งที่ Chanel มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตระยะยาว มากกว่าการนำแบบเน้นผลลัพธ์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว

นี่คือเหตุผลที่ Leena Nair กลายเป็น CEO คนใหม่ของ Chanel แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์ในวงการแฟชั่นก็ตาม

ที่มา – WSJ, Forbes, sportskeeda

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน