บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น: กลยุทธ์ลาออกแบบโดนใจ ไม่เสียน้ำใจต้นสังกัดเดิม

“If you hire a single one of these people, that means war.” คือคำพูดของ Steve Jobs ที่ “เตือน” Sergey Brin แห่ง Google ว่าอย่ามาแหยมโดยการดึงคนจาก Apple ไปร่วมงาน (ไม่งั้นสงครามเกิดแน่) และกลายเป็นข้อตกลงอยู่กลายๆ ของบริษัทใน Silicon Valley เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

แต่มาวันนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป ตลาดงานที่จะค้นหาสุดยอด “ลูกจ้าง” ก็คือบริษัทของคู่แข่ง และนั่นทำให้เกิดการโยกย้ายงานระหว่างบริษัทในอุตสาหกรรมอยู่ไม่น้อย

ในวงการบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ทุกคนรู้จักดี มีการ “โยกย้าย” ของพนักงาน เช่น Google ดึงพนักงานจาก Microsoft และ IBM ขณะที่ Facebook ก็ฉกคนจาก Google ไปเช่นกัน ปิดท้ายด้วย Microsoft ก็ได้คนจาก IBM และ Amazon ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เกิดในทุกวงการ บริษัทเอเยนซี่ทั้งหลายซื้อตัวกันเป็นว่าเล่น, การเงินการธนาคารก็ย้ายงานกันบ่อย หลายบริษัทเติบโต หลายบริษัทถดถอย ดังนั้นบางรายจึงสูญเสียบุคลากรไปมากกว่าที่หาเข้ามาใหม่ได้ เช่น

  • พนักงานของ Google 12,798 คน มาจากบริษัทเทคโนโลยีหลายๆ แห่ง
  • Google ได้คนจาก Microsoft มา 4,151 คน และ Microsoft ก็ได้คนจาก Google เช่นกัน โดยมีจำนวน 896 คน
  • Amazon ดูดคนจาก eBay มาได้ 218 คน แต่ก็โดนดูดกลับไป 152 คน
  • Apple จ้างพนักงานจาก Microsoft กว่า 1,334 คน และยังมีอีกไม่น้อยจาก IBM และ Intel
  • IBM จะได้พนักงานจาก Dell ไปกว่า 1,753 คน แต่ก็สูญเสียกลับไปให้ Dell ถึง 2,302 คน

การย้ายพนักงานระหว่างบริษัทในแต่ละครั้ง มีความเป็นไปได้ว่า “ไม่ได้มาแค่หนึ่ง” แต่อาจจะดึงเอาเพื่อนร่วมงานในทีมตามมาด้วย และคำถามของพนักงานหลายคนคือ จะย้ายงานอย่างไร ไม่ให้เสียน้ำใจต้นสังกัด จะลาออกอย่างไร โดยที่ยังมองหน้ากันติดเหมือนเดิม ต่อไปนี้คือ กลยุทธ์ที่นำไปใช้ได้

1. เดินเข้าไปแจ้งการลาออกโดยตรง การพูดคุยกันต่อหน้าแสดงออกถึงความจริงใจ อ่อนน้อม และสื่อสารได้ชัดเจนที่สุด มากกว่าการโทรศัพท์, อีเมล หรือแชท

2. อย่าเม้าบริษัทเดิม จริงอยู่ว่าบริษัทเดิมอาจจะมีสิ่งที่ไม่ถูกใจ แต่ก็อย่าสาดเสียเทเสีย ใส่สีเติมไข่ หรือเม้าถึงบริษัทเดิมจะดีกว่า

3. ให้เวลาในการหาคนมาแทน ถ้าบริษัทและหัวหน้าดูแลเรามาอย่างดี ก็ควรแจ้งลาออกแต่เนิ่นๆ ให้เวลาในการหาคนมาแทนที่ พร้อมกับสะสางงานให้เรียบร้อย

4. อย่าทำลายหนทางกลับที่เดิม ต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วในอนาคต เราอาจจะถูกดึงตัวกลับไปทำงานที่เดิมก็ได้ อยู่ในวงการเดียวกันมันแคบกว่าที่คิด จำไว้ให้ดี

5. คุยกับฝ่าย HR สักนิดเกี่ยวกับการย้ายงาน บริษัททั้งหลายชอบให้พนักงาน feedback สิ่งต่างๆ หรือถามง่ายๆ ว่า “ทำไมถึงออก” เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง รักษาพนักงานชุดปัจจุบันกันต่อไป

ที่มา: computerworld

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา