ทำไมแบงก์ชาติต้องคุมเข้มสินเชื่อเช่าซื้อรถ หนี้เสียกลุ่มนี้มีพฤติกรรมน่าห่วงอย่างไร?

1-2 ปีนี้มีข่าวแบงก์ชาติออกเกณฑ์คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและ Non-bank ไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่ออกเกณฑ์ใหม่มาคุมสินเชื่อบ้าน คุมบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (PLoan) จนล่าสุดมาถึงสินเชื่อรถแลกเงิน ตามบริษัทลีสซิ่ง หรือบริษัทเช่าซื้อต่างๆ

สินเชื่อเช่าซื้อหนี้พุ่งจนแบงก์ชาติต้องเป็นห่วงหรือ?

มุมมองของฝ่ายวิจัย บล. เอเชียพลัส (ASP) บอกว่า ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีอยู่ 8% ของสินเชื่อรวมในระบบ (ณ ไตรมาส 3/2561) เติบโต 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และถือว่าเติบโตตามยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศที่เติบโตกว่า 20% มาจากค่ายรถออกโมเดลใหม่เรื่อยๆ โครงการรถยนต์คันแรกพ้นกำหนด 5 ปี คนก็เริ่มซื้อรถใหม่ รวมถึงค่ายรถยนต์ ดีลเลอร์ที่แข่งขันกันทำตลาด

และเมื่อดูคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ พบว่า สิ้นไตรมาส 3/2561 NPL (หนี้เสีย หรือคนที่ผิดนัดชำระหนี้ 90 วันขึ้นไป) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.57% เพิ่มขึ้นจาก 1.52% เมื่อไตรมาส 2/2561 แต่ก็ต่ำสุดเมื่อเทียบกับ NPL ของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ

ภาพจาก shutterstock

ส่วนถ้าดูกลุ่มคนที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วันที่เรียกว่า SM (special mention) ไนไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 7.32% และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2561 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ ไม่กังวลกับสินเชื่อกลุ่มนี้มากนัก และปัจจุบันยังไม่มีประเด็นที่แบงก์ชาติจะมาควบคุม หากพิจารณาสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม จะเห็นว่ายังอยู่ในระดับต่ำ 1.5-2.5% ของสินเชื่อรวมตั้งแต่ปี 2555 ส่วน SM ตั้งแต่ก่อนปี 2555 อยู่ที่ระดับ 6-7% มาตลอด

“ปกติแล้วลูกค้าที่ผ่อนชำระสินเชื่อรถยนต์ มักจะมีพฤติกรรมชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด โดยเฉพาะช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ของทุกปี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ปล่อยให้รถยนต์ถูกยึด จึงไม่เห็น SM ไหลตกชั้นไปเป็น NPL เป็นจำนวนมากนั่นเอง”

ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารไหนให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์บ้าง? หุ้นกลุ่มแบงก์ซื้ออะไรดี?

ธนาคารที่มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงได้แก่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ราว 55% ของสินเชื่อรวม ส่วนธนาคารทิสโก้ (TISCO) ราว 52%และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ราว 49%

แต่ละแบงก์มีนโยบายการให้สินเชื่อต่างกัน อย่าง TCAP ปล่อยสินเชื่อรถใหม่ราว 70% ที่เหลือเป็นรถมือสองและสินเชื่อทะเบียนรถ ส่วน TISCO ปล่อย 90% เป็นรถใหม่ สุดท้าย KKP เน้นรถมือสองสัดส่วน 61%

ในปีหน้า 2562 ฝ่ายวิจัย ASP มองว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่จะโตชะลอตัวเหลือ 5% จากปีก่อน เลยจะส่งผลบวกต่อ TCAP, TISCO, KKP โดยเฉพาะช่วงจัดงาน Motor Show และ Motor Expo ที่ผลักดันยอดจองได้เฉลี่ยกว่า 8-10% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่รวมทั้งปี

ทั้งนี้ TCAP จะได้ผลบวกมากสุด จากโครงสร้างสินเชื่อที่เน้นเช่าซื้อรถยนต์สูงสุด และยังเน้นรถใหม่ที่เป็นรถตลาด กลยุทธ์การลงทุนกลุ่มแบงก์ เลือก ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็น Top picks และแนะนำซื้อ TCAP

สรุป

ฝ่ายวิจัย ASP มองว่าหนี้เสียสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (NPL) ไม่สร้างความกังวลมากนัก และปัจจุบันยังไม่มีประเด็นที่แบงก์ชาติจะมาควบคุม แต่จากยอดขายรถยนต์ทั้งปีนี้และปี 2019 มีแววเติบโตต่อเนื่องทำให้กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจคือ หุ้นธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เช่น TCAP ฯลฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา