ต้องป้องกัน ‘จีน’ สวมสิทธิบริษัทไทย บทเรียนหลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีโซลาร์เซลล์ไทยเป็น 327%

สัปดาห์ที่แล้ว ‘ทรัมป์’ เปิดเกมใหม่ประกาศคิดภาษีนำเข้า ‘สินค้าโซลาร์เซลล์’ ใน 4 ชาติมหามิตรแห่งอาเซียน กัมพูชา เจอ 3,521% เวียดนาม เจอ 395.9% ส่วนไทยเจอ 375.2% และมาเลเซีย 34.4%

สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากการสืบสวนยาวนาน 1 ปีตั้งแต่สมัยรัฐบาลไบเดน ต่อเนื่องมายังรัฐบาลทรัมป์ แล้วมาประกาศแบบประจวบเหมาะต่อเนื่องกับเรื่องกำแพงภาษีนำเข้าที่ยังไม่รู้ว่าจะจบแบบใด

คำถาม คือ ไทยเราเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้ได้บ้าง

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา อธิบายว่า การขึ้นภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์ของสหรัฐอเมริกาเป็นมาจากการสืบสวนทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมการสวมสิทธิ์ของประเทศจีน

โดยสหรัฐอเมริกาตั้งข้อสังเกตว่า ‘จีน’ ได้เข้ามาสวมสิทธิ์ตั้งฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ในบริษัทอาเซียน และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

ผลการตรวจสอบของสหรัฐอเมริกา ในปี 2023 สรุปว่า มีการสวมสิทธิ์ และทำให้เริ่มไต่สวนเพื่อคำนวณอัตราการเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในปี 2024 และสรุปออกมาเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้สัปดาห์ที่ผ่านมา

‘มาเลเซีย’ ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีโซลาร์เซลล์น้อยที่สุด น่าจะได้ประโยชน์จากกรณีนี้ แต่อัตราที่อีก 3 ประเทศเจอจะทำให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้ยาก

“ในเวลานี้คงเป็นเรื่องยากและอาจจะเลยจุดที่รัฐบาลไทยจะทำอะไรได้มากแล้ว เพราะเป็นกระบวนการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2024 สหรัฐฯ ตัดสินไปแล้ว ซึ่งเราก็อาจจะอุทธรณ์ได้ในบางกรณีแต่ก็คงไม่ง่าย

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำก็คือการหามาตรการป้องกันเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีมาอีกเรื่อยๆ ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลกมีการแบ่งงานกันระหว่างประเทศ และจีนมีบทบาทในเกือบทุกสินค้า รัฐบาลจึงต้องเตรียมการเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก”

คำแนะนำในเบื้องต้นของ รศ. ดร.อาชนัน คือหลังจากนี้ไปรัฐบาลและBOI ควรมีกระบวนการเจรจากับผู้ประกอบการต่างชาติอย่างเข้มข้น ให้ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน และหันมาสร้างซัพพลายเชนในไทยมากขึ้น

โดยภาครัฐสามารถใช้กรณีบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์เป็นกรณีศึกษาว่าหลักเกณฑ์ใดเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายการสวมสิทธิ์ นำกลับมาทบทวนและถอดรหัสเพื่อหามาตรการรับมือต่อไป

“มากไปกว่านั้นคือควรใช้โอกาสจากการที่ไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งในการหารือถึงการทำงานร่วมกันกับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า

โดยแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นผ่านการนำเสนอกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรมหลังจากนี้ไป และอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ดังกล่าวขึ้นมาโดยเฉพาะ และเชิญชวนตัวแทนเจ้าที่ทางการจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับร่วมตรวจสอบ

หากสามารถทำให้สหรัฐอเมริกา มองเห็นถึงความเอาจริงเอาจังเพื่อจัดการปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ก็อาจจะส่งผลให้อเมริกาพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการขึ้นภาษีได้ในท้ายที่สุด”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา