เปิดประวัติเจ้าอาณาจักร BYD: จากเด็กกำพร้าผู้ยากไร้ สู่ผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน

 

หวัง ชวนฟู (BYD) เศรษฐา ทวีสิน
หวัง ชวนฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บีวายดี จำกัด (BYD) กับเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักผู้ชายที่กำลังจับมือกับเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย บ้างก็อาจคุ้นเคยจากข่าวนี้กันมาแล้วไม่มากก็น้อย ชายผู้นี้ก็คือมหาเศรษฐีจีนผู้เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า​ BYD เขาคือ Wang Chuanfu (หวัง ชวนฟู) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีวายดี จำกัด นั่นเอง

เจ้าอาณาจักร BYD ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก
ผู้ที่นิยามให้ BYD เป็นรถที่มาสานฝันคนขับให้เป็นจริง

หวัง ชวนฟู (Wang Chuanfu) เพิ่งจะเข้าพบเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง ประเด็นการหารือคือเรื่องที่ไทยต้องการให้ BYD คำนึงถึง Supply Chain ในไทยให้มากที่สุด, ให้ผลิตเต็มกำลังและให้ช่วยบริหารความคาดหวังของผู้บริโภคด้านราคาด้วย

จากข่าวแบรนด์ BYD ถาโถม..แรกๆ ก็มาแรงในแง่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ราคาจับต้องได้ หลังๆ ก็กลายเป็นแบรนด์ที่หั่นราคาลงเรื่อยๆ หั่นแล้ว หั่นอีก จนลูกค้าคนไทยหลายคนเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ จนนำไปสู่การพยายามล่ารายชื่อเพื่อเตรียมฟ้องเพราะเสียความรู้สึกจากการกระหน่ำลดราคา BYD อย่างต่อเนื่อง

เอาเป็นว่า เรามาทำความรู้จักเจ้าของแบรนด์นี้กันดีกว่าว่า เขาเป็นใคร? มาจากไหน? มีวิธีคิดในการทำธุรกิจอย่างไร กว่าจะก่อร่างสร้างอาณาจักรได้อย่างทุกวันนี้

Wang Chuanfu (หวัง ชวนฟู)

เขาอายุ 59 ปีแล้ว ในอดีตเขาคือเด็กกำพร้าจากภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศจีน ปัจจุบันคือมหาเศรษฐีที่รวยอันดับที่ 97 ของโลก (จากการจัดอันดับโดย Forbes: วันที่ 13 กรกฎาคม 2024) มีทรัพย์สินในครอบครองมูลค่า 1.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7 แสนล้านบาท

Wang Chuanfu

Wang Chuanfu

ก่อนจะเป็นผู้ก่อตั้ง BYD

หวัง ชวนฟู เกิดเมื่อปี 1966 ทางฝั่งตะวันออกของจีน ที่จังหวัด Anhui เมืองเกษตรกรรม หลังจากพ่อแม่ของเขาที่เป็นชาวนาทั้งคู่เสียชีวิตลง เขาก็ถูกเลี้ยงดูโดยพี่น้องที่เหลือ

เขาได้รับทุนการศึกษาด้านเคมีเชิงกายภาพโลหวิทยา (Physical Chemistry of Mettalurgy) จาก Central South University of Technology ประเทศจีน จบการศึกษาในปี 1987

จากนั้นศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ จาก Grinm Group (China General Research Institute of Nonferrous Metals เป็นสถาบันวิจัยที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของด้วย) ในระหว่างนี้เขาก็ทำงานเป็นนักวิจัยและได้ขึ้นเป็นรองประธาน Grinm Group ระหว่างปี 1990-1995

ก่อนจะย้ายลงทางตอนใต้ไปยังเมือง Shenzhen เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวัง ชวนฟูในวัย 29 ปีร่วมกับหลานของเขา Lu Xiangyang ก่อตั้งบริษัทผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์ขึ้นมา นามว่า BYD

BYD
บริษัท BYD ในยุคแรกเริ่ม / Image from BYD

BYD มาจาก Build Your Dreams และ Bring Your Dollars.

BYD ในยุคแรกเริ่ม ปี 1995 ก่อตั้งด้วยเงินมูลค่า 4.5 ล้านหยวนหรือประมาณ 22 ล้านบาท มีพนักงานจำนวน 20 คน

ภายใน 4 เดือน พวกเขาก็มีอาคารสำนักงานและโรงงานมูลค่า 300,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 10 ล้านบาท จากจุดเริ่มต้นของ BYD มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนคือ เลียนแบบผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ จากนั้นก็ทำให้ต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เป้าหมายสินค้าที่ว่าก็คือ ทำให้เหมือน Toyota, Sanyo และ Sony แต่ทำให้ถูกกว่าซัพพลายเออร์ญี่ปุ่น แทนที่เขาจะใช้เครื่องจักรราคาแพง เขาเน้นจ้างแรงงานจำนวนมากๆ ให้ทำตามสัญญาจ้างระยะสั้นๆ เพื่อที่เขาจะหลีกเลี่ยงการขึ้นค่าแรงได้

เริ่มก่อตั้งสาขาในต่างประเทศแห่งแรกที่ยุโรปในปี 1998 จากนั้นในปี 2000 BYD ร่วมมือกับ Motorola เป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ Lithium-ion แห่งแรกของโมโตโรลา

ปี 2002 BYD กลายเป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ Lithium-ion ในจีนแห่งแรกของ Nokia จากนั้นในเดือนกรกฎาคม เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (หุ้น H)

Wang Chuanfu with Warren Buffett
Image from BYD

มกราคม ปี 2003 เข้าซื้อกิจการ Xi’an Tsinchuan Auto Co. Ltd ปัจจุบันคือบริษัท BYD Auto Co. Ltd จากนั้น กันยายนปี 2005 เริ่มเปิดตัวรถยนต์ BYD F3 ออกสู่ตลาด

กันยายน ปี 2008 บริษัท MidAmerican Energy Holdings Co. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท Berkshire Hathaway Inc. ของ Warren Buffett ประกาศซื้อหุ้น H ของ BYD จำนวน 225,000,000 หุ้น ที่ราคา 8.00 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น ปีเดียวกันนี้ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดคันแรกของโลกเริ่มออกสู่ตลาดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

Wang Chuanfu, Charlie Munger, Warren Buffet and Bill Gates
Wang Chuanfu, Charlie Munger, Warren Buffett and Bill Gates / Image from BYD

27 กันยายน 2010 Warren Buffett, Charlie Munger และ Bill Gates เยือนจีนและเยี่ยมชม BYD เป็นเวลา 4 วัน ต่อมา 20 มิถุนายน 2011 BYD จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Shenzhen

13 ตุลาคม 2016 เปิดตัว SkyRail (รถไฟลอยฟ้า) แบบรางเดี่ยว (Monorail) ใน Shenzhen พัฒนาจากโครงการวิจัยและพัฒนาห้าปีมูลค่า 5,000 ล้านหยวนหรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นก้าวสำคัญของจีนในการเข้าสู่ตลาดระบบขนส่งมวลชนมูลค่าหลายล้านล้านหยวน

Wang เคยให้สัมภาษณ์ CNN หลังผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมเขาถึงสามารถทำให้บริษัทเติบโตได้รวดเร็วทั้งที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1995

เขาบอกว่าผู้ประกอบการต้องรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างดีที่สุด ซึ่งในจีนก็มีทรัพยากรมากมาย อันดับแรกก็คือทรัพยากรบุคคล อันดับที่สองก็คือตลาดขนาดใหญ่ของจีนนั่นเอง ที่ทำให้ BYD เติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นที่เห็นทุกวันนี้

แก้ปัญหารถติด เมืองแออัด ด้วยรถไฟลอยฟ้า

Wang เคยให้สัมภาษณ์ผ่าน YouTube ช่อง Huawei (เขาพัฒนารถไฟลอยฟ้าร่วมกับ Huawei) ในช่วงที่เขาพัฒนารถไฟลอยฟ้าในจีน เขาเล่าถึงพัฒนาการของจีนไว้ ดังนี้

อันดับแรก จีนกำลังเปลี่ยนผ่านตัวเองไปเป็นประเทศที่มีความเป็นเมืองเต็มตัว เราจะได้เห็นจีนเดินหน้าพัฒนาประเทศ ถือเป็นการพัฒนาขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา ในประเทศอื่นอาจต้องใช้เวลาพัฒนาให้เป็นเมืองถึง 50 ปี แต่สำหรับจีนใช้เวลาประมาณ 10-20 ปีเท่านั้น

อันดับที่สอง จีนเป็นประเทศที่มีรถยนต์มากที่สุดในโลก จำนวนรถยนต์ในตัวเมือง เติบโตได้มากกว่า 15% แบบปีต่อปี สิ่งที่จะตามมาก็คือความแออัด ดังนั้น รถไฟลอยฟ้าหรือ SkyRail คือทางออกที่ดีที่สุด

โดยเฉพาะสำหรับเมืองที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงชานเมืองของเมืองใหญ่ด้วย มันมีศักยภาพและมีประสิทธิภาพมาก ทั้งในแง่ของการใช้พลังงานและการใช้พื้นที่ มันทำให้คนเดินทางได้ตรงเวลาและปลอดภัย และเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมมาก

ในอดีต Elon Musk ไม่เคยมองว่า BYD คือคู่แข่ง

หลังจากเห็นการทะยานขึ้นมาของ BYD ในวันนี้ ทำให้ผู้คนมักจะขุดคลิปสัมภาษณ์ Elon Musk เมื่อครั้ง BYD ยังตามรอยไม่ทัน BYD สามารถโค่นบัลลังก์ขึ้นเป็นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายรถได้มากที่สุดติดอันดับ 1 ของโลกในปี 2023

จากบทสัมภาษณ์ Bloomberg ที่ผู้สื่อข่าวถามความคิดเห็นของ Elon Musk กรณี BYD กำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งของเขา (เมื่อนานมาแล้ว) และ Warren ก็ลงทุนไปแล้วประมาณ 10%

Musk หัวเราะกลับขณะที่ผู้สื่อข่าวยังถามไม่ทันจบ จนผู้สื่อข่าวต้องถามกลับว่า เขาหัวเราะทำไม? Musk ถามกลับว่าคุณเห็นรถยนต์แบรนด์นี้หรือยัง จากนั้นก็หัวเราะไม่หยุด เขาไม่เห็นว่า BYD จะเป็นคู่แข่งของเขาได้ และไม่คิดว่าผลิตภัณฑ์ของ BYD จะยิ่งใหญ่ได้ เขาให้เหตุผลว่ามันไม่ค่อยแข็งแรง

รถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่จุดยืนแตกต่างกัน

Wang Chuanfu เคยแสดงความคิดเห็นถึง Tesla ในเวที World Economic Forum เมื่อ 8 ปีที่แล้วเช่นกัน เขามองว่า BYD ก็เป็นแบรนด์ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นและตัวเขาและบริษัทก็มั่นใจในอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า โดยยกตัวอย่างบริษัท Tesla ว่าเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมสูงมาก เขาจำเป็นต้องเรียนรู้จาก Tesla อีกมาก

Wang มองว่า BYD มีจุดยืนที่แตกต่างจาก Tesla เนื่องจาก Tesla ต้องการเป็นรถยนต์หรู มีราคาระดับไฮเอนด์ ขณะที่ BYD ต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้าถึงสาธารณชนมากขึ้น (สโลแกนของ BYD คือ ต้องการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีทำให้ชีวิตผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น)

BYD สร้างโรงงานมาแล้วหลายแห่ง เช่น บราซิล ฮังการี ไทย อุซเบกิซสถาน และกำลังจะสร้างเพิ่มในอินโดนีเซียและเม็กซิโก ยอดขายของ BYD ขายได้มากกว่า 80% ในจีน

Buffett & Munger คู่หูนักลงทุนผู้มาก่อนกาลเสมอ

บริษัทของ Buffett เริ่มลงทุนใน BYD ในปี 2008 ซื้อหุ้นจำนวน 225 ล้านหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 10% มูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 8,300 กว่าล้านบาท

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Reuters รายงานว่า Berkshire Hathaway บริษัทของ Warren Buffett ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BYD ลงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นปีที่ BYD ทำยอดขายขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกและแซงหน้า Tesla ได้

บริษัทของ Buffett ขายหุ้น BYD ที่จดทะเบียนในฮ่องกงจำนวน 1.3 ล้านหุ้นในราคาประมาณ 39.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,400 กว่าล้านบาท

บริษัทเริ่มทยอยขายหุ้นออกตั้งแต่ปี 2022 ช่วงนั้นราคาหุ้น BYD พุ่งขึ้นกว่าเดิมถึง 20 เท่า ในปีเดียวกันหุ้นร่วงลงราว 30% หลังจากพุ่งขึ้นจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน ปี 2022 (ปีเดียวกันนี้ Tesla ถูก BYD โค่นตำแหน่งยอดขายรถไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน)

Munger เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2023 ในการประชุมประจำปีของบริษัทว่า เขาไม่เคยช่วยทำอะไรให้ Berkshire (บริษัท) ได้ดีเท่า BYD เลย (ปกติ Berkshire มักลงทุนในบริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก)

Buffett ก็กล่าวในที่ประชุมประจำปี เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2024 ว่า Charlie Munger คู่หูนักลงทุนของเขาถึงกับทุบโต๊ะถึงสองครั้งแล้วพูดว่า “ซื้อ ซื้อ ซื้อ” หุ้น BYD คือหนึ่งในนั้น อีกหนึ่งคือ Costco เขาแม่นยำ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครั้งใหญ่มากๆ จากทั้งสองบริษัทที่ว่ามา

Charlie Munger คู่หูนักลงทุนของ Buffett เป็นคนทุบโต๊ะบอกให้ซื้อหุ้น BYD เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ค่อยๆ เริ่มทยอยขายหุ้น BYD อย่างต่อเนื่อง ด้าน Buffett ก็ยืนยันว่า เขาให้ความสำคัญและเลือกลงทุนในอเมริกาเป็นหลักอยู่แล้ว

ถ้าย้อนกลับไปที่คลิปที่ Buffett ยกเครดิตให้ Munger ว่าเขาเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ซื้อหุ้น BYD ในช่วงต้นนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ด้าน Munger ก็เห็นว่าตลาดรถยนต์ในจีนค่อนข้างใหญ่ ณ เวลานั้น เขาบอกว่า BYD เป็นบริษัทที่น่าสนใจและยังมีมาตรการอุดหนุนที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนให้คนขับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย อย่างไรก็ดี Buffett ถาม Munger ไว้ว่าในอนาคต สักปี 2030 จะมีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเหลือสักเท่าไร Munger ตอบว่า ไม่มากนัก

แต่เขาก็ออกความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เขาคิดว่าสังคมจะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและน่าจะเกิดการอุดหนุนที่หลากหลายมากขึ้นอีก คงจะมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าทยอยเพิ่มขึ้นอีก แต่เขาก็ไม่คิดว่าจะมีการปฏิวัติวงการยานยนต์ที่รวดเร็วมากนัก

เขาบอกว่า เขาลองขับ BYD รุ่นล่าสุดแล้วและก็รู้สึกแปลกใจกับการเรียนรู้ของชาวจีนมากๆ พวกเขาเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเราพยายามพัฒนามาอย่างยาวนานได้อย่างรวดเร็ว โลกต่อจากนี้จะต้องมีการแข่งขันเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

BYD

ที่มา – Business Insider, Forbes (1), (2), World Economic Forum, Grinm, S&P Global, Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา