บทวิเคราะห์ KKP Research ชี้ 3 ประเด็นสำคัญในการอ่านตัวเลข GDP ไทยอย่างไร ให้ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ และไม่สับสน

บทวิเคราะห์ของ KKP Research ได้ชี้ให้เห็นการอ่านตัวเลขของ GDP ไทยที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจและประชาชนสามารถเห็นภาพของเศรษฐกิจไทยได้จริงๆ และไม่สับสน

Bangkok Thailand กรุงเทพ ประเทศไทย
ภาพจาก Shutterstock

บทวิเคราะห์ล่าสุดจาก KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่มีชื่อว่า “KKP Viewpoint – GDP ที่ (อาจไม่) สะท้อนภาพความจริง…อ่านตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ให้เข้าใจภาวะเศรษฐกิจ” ได้กล่าวถึงการอ่านตัวเลข GDP ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจไทยได้ดีมากขึ้น แม้ว่าหลายๆ ตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดของไทยในไตรมาส 3 นั้นจะออกมาดีกว่านักวิเคราะห์ของหลายๆ สถาบันการเงินวิเคราะห์ไว้

ขณะที่ GDP ไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานั้นในบทวิเคราะห์ได้มองว่า GDP ไทยปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐและดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มาก แต่ในหลายครั้งเลข GDP ที่ดีอาจไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจที่จะกลับมาโตอย่างแข็งแกร่งโดยเฉพาะในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูงเช่นในปัจจุบัน

ขณะที่การประมาณการณ์ GDP ของไทยที่จะให้ตรงกับตัวเลขของสภาพัฒน์นั้น ในบทวิเคราะห์ได้มองว่าเป็นเรื่องที่ยาก และยังมีความคลาดเคลื่อนทางสถิติสูง ซึ่งถ้าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ถ้าความคลาดเคลื่อนต่างเล็กน้อยนั้นไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตต่ำแบบไทย การคาดการณ์ต่างแค่ 1% นั้นถือว่าคลาดเคลื่อนได้สูงมาก แม้ว่าเราจะเห็นสถาบันการเงินต่างๆ แข่งขันกันเพื่อประมาณตัวเลขทางเศรษฐกิจตัวนี้ออกมา

ในบทวิเคราะห์ได้กล่าวถึงตัวเลข GDP ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงรายได้รวมของประเทศ แต่ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพจริงๆ ของคนไทย และยังไม่สะท้อนว่าคนแต่ละกลุ่มได้ประโยชน์ที่เท่ากัน ขณะเดียวกันการดู GDP ในแต่ละไตรมาสเองก็อาจเบนความสนใจไปจากทิศทางระยะยาวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีการดูตัวเลข GDP ยังคงมีประโยชน์อยู่แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งในบทวิเคราะห์ชี้ถึง 3 ประเด็นสำคัญที่ทำให้การอ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจนี้นำไปใช้ได้จริง ได้แก่

  1. ไม่ดูเฉพาะการเติบโตรวมของ GDP แต่ดูในระดับองค์ประกอบ เช่น ถ้าหากจะเข้าใจเรื่องของเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ต้องดูตัวเลขการส่งออก แต่ถ้าหากการนำเข้าลดลงซึ่งเป็นส่วนลบของ GDP ที่หักออกจากภาคการส่งออก ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เช่นกัน ถ้าจะดูภาพรวมในประเทศก็ต้องดูด้านของการบริโภคและการลงทุน ขณะที่ตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐจะชี้ให้เห็นถึงแรงส่งจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นๆ
  2. ตัวเลขการเติบโตที่สูงอาจเกิดจากฐานที่ต่ำและไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจ การดูตัวเลข GDP ที่เติบโตนั้นส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมานั้นตัวเลขได้ติดลบลงไปมาก จะทำให้ GDP ของไตรมาส 2 ปีหน้าจะเติบโตมากกว่าปีนี้ ซึ่งการอ่านตัวเลขที่ถูกต้องนั้นต้องดูเรื่องของระดับ GDP ที่เป็นตัวเลขควบคู่กับการเติบโตไปด้วย
  3. ภาพการเติบโตของ GDP ไม่สามารถสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ ซึ่งการรายงานตัวเลข GDP นั้นจะมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์มากและกลุ่มคนที่ไม่ได้ประโยชน์เลย ยกตัวอย่างเช่น ในการรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอยู่คือภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตามจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต กระบี่ ฯลฯ แต่ขณะที่ภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้า Electronics ของไทยกลับได้รับประโยชน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ยังชี้ว่าถ้าหากในมุมของผู้ประกอบการ การอ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงจะมีประโยชน์มากกว่า เช่น ถ้าหากเป็นผู้ผลิตยานยนต์ การอ่านตัวเลขส่งออกจะมีประโยชน์มากกว่า ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหรือค้าส่งนั้นการอ่านตัวเลขการบริโภคในประเทศนั้นจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ดีกว่า ทำให้ธุรกิจแต่ละประเภทสามารถวางแผนธุรกิจได้ดีมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ