หัวหน้าของคุณมีลักษณะนิสัยอย่างไรกันบ้าง ?
หลายๆ คนคงเคยทำงานกับหัวหน้าที่มีลักษณะนิสัยแตกต่างกันไป หัวหน้าบางคนเป็นที่รักของลูกน้องจนใครๆ ก็อยากร่วมงาน ในขณะที่หัวหน้าบางคนกลับถูกลูกน้องมองในแง่ร้ายจนตั้งกำแพงไม่อยากทำงานด้วย ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ลองมาสำรวจลักษณะนิสัยของหัวหน้าไปพร้อมๆ กัน
1. จัดประชุมพร่ำเพรื่อ
การจัดประชุมทุกครั้งควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เพื่อระดมสมอง เพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญ ซึ่งก่อนประชุมทุกครั้งหัวหน้าควรแจ้งให้ชัดเจนว่าจะคุยเรื่องอะไรบ้าง นอกจากนี้ ควรให้โอกาสลูกน้องเลือกว่าจะเข้าหรือไม่เข้าประชุมใด เป็นต้น
2. ตำหนิพนักงานอย่างเดียว ไม่เคยชื่นชม
ทุกคนทำผิดพลาดกันได้ หัวหน้าที่ดีควรใช้ความผิดพลาดของลูกน้องเป็นบทเรียน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่วิธีการแก้ปัญหา ไม่ใช่ตำหนิให้ลูกน้องเสียกำลังใจ โดยอาจจะเพิ่มช่องทางพัฒนาตนเองให้กับลูกน้อง หรือเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานต่างๆ เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งหัวหน้าก็ควรร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน และอย่าลืมให้กำลังใจลูกน้องเสมอ
3. โมโหง่าย ใช้อารมณ์กับพนักงาน
หากหัวหน้าใช้อารมณ์มากๆ หรือโมโหง่ายในเรื่องเล็กน้อยก็จะก่อให้เกิดผลเสีย เพราะลูกน้องจะพยายามออกห่างจากหัวหน้า หากมีปัญหาอะไรก็จะไม่กล้าปรึกษาหัวหน้าเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ถ้าหัวหน้าสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ลูกน้องก็จะกล้าพูดคุยด้วย และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขยิ่งขึ้น
4. พยายามควบคุมพนักงานทุกอย่าง
การบริหารจัดการลูกน้องแบบ Micro Management โดยพยายามออกคำสั่ง และควบคุมลูกน้องตลอดไม่ใช่เรื่องดี เพราะทำให้ลูกน้องไม่สามารถทำงานชิ้นนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้ลูกน้องขาดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรใหม่ๆ อีกด้วย ดังนั้น จงให้อิสระแก่พนักงาน และคอยเสนอคำแนะนำต่างๆ อย่างเป็นระยะก็เพียงพอแล้ว
5. เพิกเฉยต่อปัญหาของพนักงาน
ถ้าลูกน้องมีคำถามหรือต้องการให้หัวหน้าช่วยเหลือ หัวหน้าก็ไม่ควรเพิกเฉย แต่ควรจัดลำดับความสำคัญว่าควรเข้าไปช่วยในเรื่องใดก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าหัวหน้าไม่สามารถช่วยได้ทันที ก็ควรแจ้งให้ลูกน้องทราบว่าตนเองรับทราบถึงปัญหาแล้ว และจะช่วยได้เมื่อไหร่ เป็นต้น
6. ลังเล ไม่ตัดสินใจจนพนักงานทำงานต่อไม่ได้
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “การไม่ตัดสินใจแย่กว่าการตัดสินใจผิด” ในฐานะหัวหน้าที่ต้องตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในทุกวัน ลูกน้องจะรอการตัดสินใจจากหัวหน้าเสมอเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ ซึ่งการตัดสินใจผิดพลาดก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ตราบเท่าที่หัวหน้าสามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ ลูกน้องจะรู้สึกประทับใจที่หัวหน้าลงมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
7. เปลี่ยนใจไปมาจนพนักงานตามไม่ทัน
หัวหน้าบางคนมีโปรเจคใหม่ๆ มาให้ลูกน้องทำเสมอ ในบางครั้งก็เปลี่ยนโปรเจคไปมาจนลูกน้องตามไม่ทัน ทำให้ลูกน้องอาจจะเกิดคำถามว่าเป้าหมายจริงๆ คืออะไรกันแน่ ดังนั้น หลังจากนี้หากมีโปรเจคใหม่ๆ หัวหน้าก็ควรปล่อยให้ลูกน้องทำทีละโปรเจคอย่างเต็มที่
8. สั่งงานครั้งละมากเกินไป
หากหัวหน้าสั่งงานครั้งละมากเกินไป พนักงานก็จะรู้สึกหมดกำลังใจ และอาจจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดังนั้น หัวหน้าจึงควรแบ่งการแจกจ่ายงาน เพื่อให้ลูกน้องจัดลำดับความสำคัญงานต่างๆ ได้ดีขึ้น
9. สื่อสารกับพนักงานไม่ชัดเจน
เมื่อสื่อสารกับพนักงานหัวหน้าควรบอกจุดมุ่งหมาย และรายละเอียดของงานต่างๆ ให้ชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนให้ลูกน้องกล้าบอกเมื่อมีสิ่งที่หัวหน้าพูดหรือทำไม่ถูกต้อง
ที่มา: Enterpreneur
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา