Lawson เกาะกระแส Sharing Economy ปั้นบริการรับฝากกุญแจห้อง ชูจุดแข็งเปิด 24 ชม.

การเติบโตของ Sharing Economy นั้นเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือญึ่ปุ่นที่บริการเช่าห้องพัก, เช่าจักรยาน รวมถึงเช่ารถยนต์เกิดขึ้นเต็มไปหมด และร้านสะดวกซื้อ Lawson ก็พยายามเกาะกระแสนี้ไว้

เปิดด้วยบริการรับฝากกุญแจก่อน

หลายๆ บริการในแนวคิด Sharing Economy นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่มีสินค้า หรือบริการอยู่กับตัวเอง ก็สามารถแบ่งปันให้ผู้ที่อยากจะใช้สิ่งเหล่านั้น แถมยังได้รับการตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่คุ้มค่า แต่การเชื่อมต่อผู้ให้ กับผู้ใช้บริการนั้นไม่ง่ายเลย เพราะสุดท้ายก็เกิดความไม่สะดวกขึ้นเมื่อต้องมานัดเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยน

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือบริการเช่าห้องพักระยะสั้นของ Airbnb ที่สามารถเช่าห้องพักได้ผ่านระบบ Online แต่เวลาจะได้กุญแจก็ต้องมานัดเจอกันอยู่ดี ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงเกิดธุรกิจตู้รับฝากกุญแจขึ้น หนึ่งในผู้เล่นนั้นคือ Keycafe จากแคนาดาที่ให้บริการดังกล่าวกว่า 500 แห่งใน 8 ประเทศ

ซึ่งญึ่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทางบริษัทได้ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ Lawson เพื่อติดตั้งตู้ดังกล่าวที่เปิดให้เจ้าของห้อง, รถยนต์ หรืออื่นๆ นำกุญแจมาฝากไว้ในตู้ ส่วนผู้ใช้บริการก็เพียงมาเปิดตู้เพื่อหยิบออกไปใช้งาน แต่เพื่อความปลอดภัย การจะหยิบกุญแจแต่ละครั้งก็ต้องมีรหัสลับที่ส่งผ่านอีเมลจากระบบไปให้ผู้เปิดตู้

ส่วนเจ้าของกุญแจก็จะได้รับอีเมลแจ้งเตือนเมื่อมีการเปิดตู้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เจ้าของกุญแจสามารถตั้งเวลาในการเปิดตู้ หรือเปลี่ยนรหัสได้ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง สำหรับค่าบริการเหมาจ่ายอยู่ที่ 1,980 เยน/เดือน (ราว 570 บาท) และหากเป็นครั้งคราว คิดค่าบริการ 690 เยน/ครั้ง (ราว 200 บาท)

ซึ่งร้านสะดวกซื้อ Lawson จะนำตู้นี้ไปติดตั้งในสาขาที่ห้างสรรพสินค้า Ginza Six กลางกรุงโตเกียวก่อน และภายในปี 2561 มีแผนขยายไปอีก 100 แห่งในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพราะมีนักท่องเที่ยวใช้บริการในลักษณะ Sharing Economy มากขึ้น แต่ยังเน้นที่กรุงโตเกียว, โอซาก้า และนาโกย่าเป็นหลัก

สรุป

ในญี่ปุ่น Sharing Economy เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่นร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่นั่นก็เพิ่งร่วมกับ SoftBank เพื่อให้บริการ Bike Sharing ที่มีรถจักรยานกว่า 5,000 คัน ผ่านการกระจายจุดใช้บริการให้ครบ 1,000 แห่งในปี 2561 ซึ่งเหตุที่ร้านสะดวกซื้อมารุกตลาดนี้ เพราะเปิด 24 ชม. ทำให้ใช้บริการได้ตลอดเวลานั่นเอง

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา