ต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น ทำร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นหยุดขาย Online หันพัฒนาหน้าร้านชดเชย

ต้นทุนการขนส่งพัสดุในญี่ปุ่นนั้นสูงขึ้นทุกวัน เพราะพนักงานไม่เพียงพอ และการเติบโตของ E-Commerce จนร้านสะดวกซื้ออย่าง Lawson และ FamilyMart ต้องเลิกบริการสั่งซื้อสินค้า Online เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

ร้าน Lawson // ภาพโดย Byきな粉パン (投稿者が撮影) [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC BY 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons

ค่าใช้จ่ายสูง แถมไม่คุ้มกับการเติบโต

หลังจากเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2556 ร้านสะดวกซื้อ Lawson ในประเทศญี่ปุ่นก็ปิดบริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Online ในเดือนส.ค. นี้ เพราะถึงปัจจุบันมีผู้สมัครสมาชิกใช้บริการดังกล่าวราว 60,000 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบจำนวนสินค้ากว่า 8,000 รายการ ตั้งแต่งของสด จนถึงอาหารสำเร็จรูปที่บริษัทต้องบริหารจัดการ

ยิ่ง Lawson นั้นไม่คิดค่าบริการขนส่งหากสมาชิกซื้อสินค้ารวมกันมากกว่า 5,000 เยนในพื้นที่โตเกียว ก็ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการด้านขนส่งต้องเพิ่มขึ้นอีก เพราะปัจจุบันพันธมิตรที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เช่น Yamato Transport หรือแมวดำ รวมถึง Japan Post ต่างก็ขึ้นค่าบริการขนส่งกันทั้งนั้น

ร้าน FamilyMart // ภาพโดย Yasu [GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html) or CC BY-SA 3.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], from Wikimedia Commons
ซึ่งก่อนหน้านี้ปัญหาดังกล่าวก็เกิดกับร้าน FamilyMart ที่เพิ่งปิดบริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Online ไปเมื่อเดือนก.พ. เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหวเช่นเดียวกัน จนเหลือแค่ 7-Eleven ที่ยังให้บริการนี้อยู่ เพราะเพิ่งเปิดตัวบริการดังกล่าวเมื่อเดือนต.ค. และคาดว่าในเดือนส.ค. 2562 จะขยายบริการขนส่งได้ทั่วฮอกไกโด

ปรับกลยุทธ์ดึงลูกค้าเข้าร้านแทน

ทั้งนี้การทำบริการสั่งซื้อสินค้า Online นั้นทำให้เสน่ห์ของการเข้ามาเดินเลือกซื้อของภายในร้านหมดไป ดังนั้นเพื่อรักษาทั้งเสน่ห์ และความสะดวกเอาไว้ Lawson จึงยังให้บริการสั่งซื้อสินค้า Online อยู่ แต่จะไม่ส่งถึงบ้าน โดยจะแทนที่ด้วยการให้ผู้ซื้อมารับที่หน้าร้านแทน เบื้องต้นมี 200 สาขาในโตเกียวที่ให้บริการนี้แล้ว ซึ่งจะเพิ่มขึ้นแน่นอน

บรรยากาศภายในร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น // ภาพจาก Flickr ของ DocChewbacca

ดังนั้นเมื่อมีลูกค้าเข้ามารับสินค้าภายในร้าน โอกาสที่พวกเขาจะเลือกซื้อสินค้าจากในร้านเพิ่มเติมก็มีสูง และกลายเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ทั้งสองช่องทางเติบโตไปด้วยกันได้ แต่เมื่อศึกษาดูลึกๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายเรื่องการขนส่งนั้นไม่ได้กระทบแค่บริการสั่งซื้อสินค้า Online แต่มันส่งผลถึงภาพรวมการกระจายสินค้าอีกด้วย

จึงเป็นเหตุผลที่ 7-Eleven ต้องร่วมมือกับบริษัทขนส่ง Seino Holdings เมื่อปี 2560 เพื่อจัดตั้งบริษัทย่อยที่พัฒนาเรื่องระบบขนส่ง และลดต้นทุนนี้ลงให้ได้ นอกจากนี้ซูเปอร์มาร์เก็ต Ito Yokado ก็เริ่มปรับราคาเครื่องดื่มบางตัวเพื่อรับกับค่าขนส่งที่มากขึ้น เช่นกันกับ Aeon และร้านขายเฟอร์นิเจอร์ Nitori Holdings

Yamato Transport // ภาพจาก Flickr โดย halfrain

ฝั่งผู้ให้บริการขนส่งก็หนักไม่แพ้กัน

ในฝั่งผู้ให้บริการขนส่งนั้นก็ต้องรับความท้าทายนี้เช่นเดียวกัน อาทิยักษ์ใหญ่อย่าง Yamato ก็เพิ่งเพิ่มราคาค่าบริการกับลูกค้าทั่วไปโดยเฉลี่ย 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งพอยักษ์ใหญ่ขึ้น Sagawa Express และ Japan Post ก็เพิ่มราคาขึ้นตามมาในอีกไม่นาน

ขณะเดียวกันในการทำธุรกิจกับลูกค้าองค์กร Yamato ก็มีการต่อรองกับลูกค้ารายใหญ่กว่า 1,100 ราย ขอขึ้นราคาค่าบริการ ซึ่ง 60% ของจำนวนนั้นก็ยินดี เช่น Amazon Japan เป็นต้น ส่วนอีก 40% ที่เหลือนั้นขอเลิกใช้บริการกับบริษัท และมีบ้างเล็กน้อยที่ยอมลดจำนวนพัสดุในการขนส่งลง

แม้ว่าภาพรวม E-Commerce จะเติบโตรวดเร็วมาก และกลายเป็นโอกาสการเติบโตครั้งสำคัญของฝั่งผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ แต่หากพวกเขารับมือคลื่นที่ถาโถมเข้ามานี้ไม่ไหว เพราะจำนวนพนักงานไม่มากพอ หรือค่าน้ำมัน และค่าบำรุงรักษาต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ก็เท่ากับว่าพวกเขานั้นต้องเสียโอกาสนี้ไปโดยปริยาย

สรุป

ที่ญี่ปุ่น E-Commerce นั้นใหญ่มาก และยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่ตลอด ดังนั้นเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย E-Commerce ที่แม้ยังเล็กกว่าอยู่ แต่อัตราการเติบโตในแต่ละปีก็สูงไม่แพ้กันแน่ๆ และเชื่อว่าตอนนี้ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุในไทยก็งานล้นมือ จึงมีโอกาสที่อนาคตจะเกิดการขอปรับขึ้นราคาค่าบริการบ้างก็เป็นได้

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา