หลังเหตุกราดยิงครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ สถานที่เกิดเหตุอยู่ในกลุ่มคาสิโน MGM Group หุ้นร่วงลงไปกว่า 5% ส่วนบริษัทแม่ที่มาเก๊าก็ร่วง แต่หุ้นปืนในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น
หลังเหตุกราดยิง หุ้นคาสิโนร่วง
เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้มาร่วมงานในเทศกาลดนตรีที่ลาสเวกัส โดยคนร้ายใช้อาวุธยิงลงมาจากชั้น 32 ของโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ (Mandalay Bay Resort and Casino) เท่าที่ทราบล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 59 ราย บาดเจ็บอีก 527 ราย โดยถือเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้ว
หนึ่งวันหลังจากเกิดเหตุการณ์ ทำให้หุ้นกลุ่มคาสิโนร่วงลง โดยเฉพาะหุ้น MGM Resorts International ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมมัณฑะเลย์ เบย์ในลาสเวกัส สถานที่เกิดเหตุกราดยิง หุ้นร่วงลงมากกว่า 5%
ส่วนวันต่อมานักลงทุนทั่วโลกเทขายหุ้นกลุ่ม MGM China Holdings ที่เป็นบริษัทแม่ผู้ให้บริการคาสิโนในมาเก๊า ร่วงลงไปต่ำสุด 3.63% แต่ปิดที่ 18.36 เหรียญฮ่องกง สรุปแล้วร่วงลงไป 1.92%
แต่อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐฯ คงต้องกู้สถานการณ์กันพอตัว แต่ในมาเก๊าดูแล้วน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ไว เพราะช่วงสัปดาห์นี้คือวันชาติของจีน แรงงานจะได้หยุดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ คาดว่าน่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่เดินทางไปมาเก๊าเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ
หลังเหตุกราดยิง หุ้นปืนพุ่ง
หลังเหตุการณ์กราดยิงในลาสเวกัส ทำให้หุ้นบริษัทผลิตปืนปรับตัวสูงขึ้น TNN รายงานว่า หุ้นอเมริกัน เอาท์ดอร์ แบรนด์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสมิธ แอนด์ เวสสัน พุ่งขึ้น 3.2% หุ้นสเทิร์ม รูเจอร์ แอนด์ โค ทะยานขึ้น 3.5% และหุ้นวิสตา เอาท์ดอร์ พุ่งขึ้น 2.4%
แต่รู้หรือไม่ว่า ในสหรัฐฯ แต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายจากความรุนแรงที่เกิดจาก “ปืน” ปีละเท่าไหร่?
มีงานวิจัยจาก Johns Hopkins เปิดเผยว่า คิดโดยเฉลี่ยแล้วต่อปี มีคนอเมริกันที่ตกเป็นเหยื่อของอาวุธปืนคิดเป็นต้นทุนที่ต้องเสียต่อปีอยู่ที่ 2,800 ล้านเหรียญ (93,780 ล้านบาท) ในส่วนนี้คิดคำนวณจากการเข้าห้องฉุกเฉินและเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เป็นผลมาจากอาวุธปืนโดยตรง แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินจะสูงถึง 45,000 ล้านเหรียญ (1.5 ล้านล้านบาท)
นอกจากนั้น การเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนในสหรัฐฯ ยังนับเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากการติดพิษและอุบัติเหตุด้วยรถยนต์ แต่ถึงที่สุดแล้ว ในสหรัฐฯ ก็ถกเถียงกันมานานถึงประเด็นเรื่องการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายเกินไป เพราะว่าได้ส่งผลเสียต่อประเทศในหลายด้านไม่เพียงแต่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันด้วย
ส่วนข้อโต้แย้งหลักของการสนับสนุนให้พกอาวุธปืนได้ในสหรัฐฯ ก็เพราะเป็นสิทธิที่ได้รับรองในรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ “สิทธิในการถือครองอาวุธ” หรือ “Right to Bear Arms” ส่วนมลรัฐที่เกิดเรื่องขึ้นครั้งนี้อย่างเนวาดา ก็มีกฎหมายที่อนุญาตให้พกอาวุธปืนได้ในพื้นที่สาธารณะ แต่ระบุไว้หลวมๆ ไม่เคร่งครัด คงต้องติดตามกันต่อไปทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย
อ้างอิง – Nikkei Asian Review, QUARTZ, Ryt9,TNN
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา