แรงงาน, ธุรกิจน้ำมัน และรายได้ของรัฐ คือ 3 สิ่งที่กระทบเต็มๆ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลาย

ในปี 2573 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวไปอีกขั้น เพราะรถยนต์ที่วิ่งบนถนนในหลายๆ ประเทศจะเหลือแค่ “รถยนต์ไฟฟ้า” และจากจุดนี้เองทำให้มันกระทบกับหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง และหากไม่เตรียมพร้อมก็คงแย่แน่ๆ

ภาพโดย Norbert Aepli, Switzerland [CC BY 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons

หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ทำแรงงานคนหาย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปี 2573 หลายประเทศทั้งจีน, อินเดีย, อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างออกนโยบายให้รถยนต์ในประเทศนั้นเป็นถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เปรียบเสมือนการทำหมันรถเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้กันมาหลายสิบปีโดยปริยาย และจุดนี้เองก็ทำให้ค่ายรถยนต์หลายรายปรับตัวโดยส่งแผนผลิต และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างชัดเจน

แต่ตัวแผนเหล่านั้นเองมันก็กระทบกับแรงงานคนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีอยู่จำนวนมาก ตัวอย่างเช่นในประเทศเยอรมัน ถ้าหากค่ายรถยนต์หลายรายเดินหน้าผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้า โอกาสที่แรงงานกว่า 6 แสนตำแหน่งจะหายไปทันทีก็มีสูง เพราะขั้นตอนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นง่ายว่าเครื่องสันดาปมาก และมีหุ่นยนต์มาช่วยในหลายขั้นตอน

อย่างไรก็ตามมันไม่ได้แย่เสียทีเดียว เนื่องจากฝั่งธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เมื่ออ้างอิงเรื่องตัวชิ้นส่วนนั้นผลิตง่ายกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่า ที่สำคัญยังมีผู้เล่นไม่มากในธุรกิจนี้ ทำให้ผู้ที่สนใจลงทุนเรื่องชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ายังมีตลาดรองรับอีกมาก โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน

ฟากขุดเจาะน้ำมันคงไม่อู่ฟู่เหมือนเมื่อก่อน

และเมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น การบริโภคน้ำมันที่ใช้สำหรับรถยนต์ก็คงลดลงเช่นกัน ซึ่งจุดนี้กระทบกับผู้ผลิตน้ำมันเต็มๆ โดยเฉพาะประเทศเวเนซูเอล่า, ไนจีเรีย, ซาอุดิอาราเบีย และรัสเซีย เพราะในปี 2563 มีการคาดการณ์ว่า การบริโภคน้ำมันในแต่ละวันอยู่ราว 100 ล้านบาร์เรล แต่ในปี 2573 จะลดลงเหลือ 70 ล้านบาร์เรล

ภาพ pixabay.com

ในทางกลับกันวัตถุดิบที่ใช้ทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีราคาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแร่ ลิเทียม, นิกเกิล, โคบอลต์ และแคดเมียม จนทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่มีแร่เหล่านี้เยอะ ต้องออกนโยบายพิเศษเพื่อสนับสนุนการค้นหาแร่เหล่านี้เพิ่ม รวมถึงหาช่องทางส่งออกแร่ไปยังประเทศต่างๆ ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่า

รายได้จากภาษีปิโตรเลี่ยมลดลง และไม่เติบโต

หากรัฐบาลไม่เตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ดี การสูญเสียรายได้จากภาษีปิโตรเลี่ยมก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อไม่มีการใช้น้ำมัน การเก็บเงินได้ส่วนนี้ก็ต่ำลงทันที ดังนั้นเพื่อการรักษารายได้จากภาษีส่วนนี้ไว้ ก็คงได้เห็นมาตรการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค่าใช้ถนน หรือไม่ก็คิดตามเวลาใช้ถนนก็เป็นได้

สรุป

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากใครยังไม่เตรียมพร้อม ก็คงตกขบวน และเสียโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างไร “น้ำมัน” ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ เพราะในบริการคมนาคมอื่นๆ เช่นการบิน และเรือ ก็ยังต้องใช้น้ำมัน ดังนั้นมันคงไม่หายไปเร็วๆ นี้แน่

อ้างอิง // Quartz

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา