โควิดเปลี่ยนภาพตลาดแรงงานใหม่ 4 เรื่อง: ออฟฟิศ, ผู้คน, เนื้องานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 

หลังโควิดระบาดอย่างหนักหน่วง ภาพรวมเศรษฐกิจระยะสั้นมีความไม่แน่นอนสูงแต่ตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงและต้องจับตามี 4 เรื่องด้วยกัน ศึกษาโดย Benjamin Friedrich ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Kellogg School ของ Northwestern University ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากเรื่องหลักสูตรการตลาดและกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร Friedrich ผู้ที่ศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานกล่าวไว้

เรื่องแรกคือสถานที่ทำงานจะมีความยืดหยุ่นสูง 

อย่างที่เรารู้กันดีว่า โควิดระบาดเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนอย่างที่แทบไม่เคยทำได้มาก่อน หรืออาจจะไม่เคยคิดที่จะทำเพราะคิดว่าทำไม่ได้ เช่น หน่วยงานราชการ ใครจะไปคิดว่าเอกสารกองโต จนข้าราชการต้องจมอยู่กับกองงานในสำนักงานต่างๆ จะสามารถทำงานจากบ้านได้ ในวันที่โควิดระบาดก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะหน่วยงานเอกชนหรือราชการก็สามารถปรับตัวได้เช่นกัน 

Fridrich มองว่า แรงงานทั้งหลายจะมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โรคระบาดที่ว่านี้ก็ถือเป็นการดิสรัปรูปแบบหนึ่ง ทำให้สิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็นก่อนหน้านี้ เพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น ผู้คนหันมาลงทุนกับการทำ home office มากขึ้น โลกเรียนรู้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการสื่อสารและทำงานแบบทีมเวิร์คในโลกเสมือนจริงเพิ่มขึ้น 

บริษัทและหน่วยงานต่างๆ จะเรียนรู้ว่า ประเภทงานแบบไหนที่จะสามารถทำงานแบบยดหยุ่นได้ ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การทำงานแบบไฮบริด หรือการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันนี้จะกลายเป็นความท้าทายใหม่ๆ ของออฟฟิศต่างๆ มากขึ้น อย่างน้อยบริษัทก็ได้เรียนรู้จากข้อมูลที่มีได้ดีมากขึ้นว่าจะจัดการความท้าทายเหล่านี้อย่างไร 

เรื่องที่สองคือบทบาทของ “People analytics” จะสำคัญมากขึ้น ช่วยให้องค์กรจัดการคนเก่งได้มากขึ้น

โรคระบาดทำให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านการสื่อสารออนไลน์ บริษัททั้งหลายจะต้องใช้ข้อมูลในการพัฒนาการดำเนินงานให้ดีขึ้น ตัวอย่าง การวิเคราะห์ผู้คนสามารถช่วยให้ผู้นำเข้าใจการสื่อสารภายในองค์กรซึ่งรวมถึงทีมสมาชิกที่อาจจะได้ประโยชน์จากการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนแบบ virtual มันช่วยในส่วนของการคัดสรรผู้คนรวมถึงโปรโมตผู้คนได้ด้วย 

สิ่งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ธุรกิจจะต้องตัดสินผู้คนผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก Fridrich มองว่า ข้อมูลดังกล่าวจะมาช่วยขยายศักยภาพคนเก่งให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

เรื่องที่สามคือ การเปลี่ยนแปลงของเนื้องาน 

โรคระบาดทำให้เนื้องานเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ และไม่แน่ว่าจะกลับมาเหมือนก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาดเมื่อไร งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้ห็นว่าการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในงานมากขึ้น ไม่ได้ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแตกต่างไปจากเดิม ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ลดการเดินทางธุรกิจและหันมาพัฒนาการประชุมแบบ virtual มากขึ้นก็ทำให้คนทำงานหันมไปใช้เวลากับงานอื่นๆ เช่นการวิจัยและงานวิเคราะห์มากขึ้น 

เรื่องที่สี่คือ แรงงานจะมีค่าแรงสูงขึ้น 

โรคระบาดทำให้ค่าแรงรายชั่วโมงสูงขึ้น โดยเฉพาะงานในอุตสาหกรรมบริการและค้าปลีก ร้านออนไลน์ขนาดใหญ่อย่าง Amazon, Best Buy, Costco และ Target ต่างก็เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำกันเป็นแถว เรียกได้ว่ามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของหน่วยงานรัฐเสียอีก เนื่องจากเมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจขยายตัว เปิดกว้างมากขึ้น ลูกค้าก็มีความต้องการเพิ่มขึ้น เป็นต้น  

ในส่วนของแรงงานในบางพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ การฟื้นตัวของตลาดแรงงานก็จะฟื้นตัวช้าตามไปด้วยเช่นกัน มีเฉพาะบางภาคส่วนเท่านั้นที่มีค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา