รู้จักกาแฟจากแล็บ เพาะจากเซลล์ ไม่ต้องถางที่ทำไร่-ลดคาร์บอนไดออกไซด์ อาจวางขายได้ใน 4 ปี

สถาบันวิจัยในฟินแลนด์คิดค้น “กาแฟจากแล็บ” ลดการใช้ที่ดิน ลดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ แก้ไขปัญหาโลกร้อน สร้างทางเลือกใหม่ให้ธุรกิจเกษตรและอาหาร

กาแฟ

วิกฤติสภาพอากาศทำให้อุตสาหกรรมอาหารที่เป็นทั้งผู้ก่อและผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งธุรกิจและหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐต่างเสาะหาวิธีการผลิตอาหารในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

นักวิจัยผุดไอเดียกาแฟจากแล็บ ไม่ต้องทำไร่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเดิม

ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีการรายงานว่ามีความคืบหน้าในการวิจัยคือ กาแฟจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในแล็บ โดย VTT Technical Research Center of Finland สถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีของฟินแลนด์ 

กาแฟจากแล็บของ VTT ทำขึ้นโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์หรือเนื้อเยื่อของกาแฟในอาหารเลี้ยงเชื้อ หลังจากกาแฟถูกเพาะเลี้ยงอย่างเหมาะสมก็จะเข้าสู่กระบวนการคั่วและทดสอบโดยนักประเมินคุณภาพอาหารของ VTT ต่อไป

lab-grown coffee VTT
image from VTTresearch.com

Heiko Rischer หัวหน้าทีมวิจัยประเมินว่า กาแฟจากแล็บของ VTT น่าจะได้รับการรับรองทางกฎหมายในยุโรปและสหรัฐฯ ให้สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า 

ต้องบอกก่อนว่าการผลิตกาแฟจากแล็บยังมีช่องว่างให้พัฒนาอยู่เพราะล่าสุดรสชาติของกาแฟจากแล็บยังไม่ได้เหมือนกับกาแฟทั่วไปเสียที่เดียวสำหรับกาแฟจากแล็บล็อตแรกๆ โดย Heiko Rischer ระบุว่า “ถ้าจะให้อธิบายรสชาติมันก็พูดยาก แต่สำหรับผมรสชาติของมันยังอยู่กึ่งกลางระหว่างกาแฟและชาดำ”

“แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ระดับของคั่วด้วย กาแฟตัวนี้ค่อนไปทางการคั่วแบบอ่อนจึงให้สัมผัสที่ค่อนไปทางคล้ายๆ ชาอยู่หน่อยๆ” Rischer เสริม

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังไม่สามารถกลืนกาแฟจากแล็บได้เพราะผลผลิตจากนวัตกรรมด้านการเกษตรชนิดนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้สามารถบริโภคได้ในวงกว้างจึงต้องอาศัยการชิมและบ้วนทิ้งเท่านั้น

lab-grown coffee VTT
image from VTTresearch.com

โลกร้อน ปลุกกระแสธุรกิจอาหารทางเลือก

การพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรแบบใหม่จะช่วยแก้ปัญหา 2 อย่างคือ 

  • ช่วยลดความรุนแรงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นจากการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์
  • พัฒนาวิธีการใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เพราะการเพาะปลูกกาแฟ (และเกษตรกรรมดั้งเดิมรูปแบบอื่น) ทั้งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเวลาเดียวกัน

งานวิจัยจากวารสาร Nature ระบุว่า รูปแบบการบริโภคสมัยใหม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

และในขณะเดียวกันผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ย้อนกลับมาทำร้ายธุรกิจด้านการเกษตรเอง เพราะสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น อากาศหนาว ความแห้งแล้ง ไปจนถึงภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ทำเกิดความยากลำบากให้กับการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมเพราะส่งผลให้ฤดูกาลการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเปลี่ยนแปลงหรือผลผลิตลดลง 

กาแฟ
ชาวสวนกาแฟในต่างประเทศ // ภาพ pixabay.com

เช่น ในปีนี้ราคาเมล็ดกาแฟดิบพุ่งขึ้นถึง 30% สูงที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี เพราะประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อย่างบราซิลและโคลอมเบียต้องเผชิญภัยแล้งที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศจนทำให้ผลผลิตขาดแคลน

และมีการศึกษาชี้ว่าสถานการณ์อาจร้ายแรงถึงขั้นที่ พื้นที่เพาะปลูกกาแฟกว่าครึ่งจะเพาะปลูกไม่ได้อีกต่อไปภายในปี 2050 หากรูปแบบการผลิตและการบริโภคยังเป็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สรุป

เรียกได้ว่าเรื่องของภูมิอากาศทำให้อุตสาหกรรมด้านการเกษตรและอาหารต้องหันกลับมาทบทวนวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมและพยายามแสวงหาวิธีการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น 

ปัจจุบันเราจะได้เห็นทั้ง เนื้อจากพืช เนื้อปลาจากแล็บ เนื้อจากรา เนื้อวากิวจากเครื่องพิมพ์ 3D และคราวนี้ก็เป็นคราวของกาแฟจากแล็บ ส่วนในฝั่งของผู้บริโภค ตอนนี้ การบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงเกือบ 1 ใน 5 ในอังกฤษ ชัดเจนว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การลดผลกระทบของวิกฤติภูมิอากาศให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ที่มา – The Guardian, VTT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน