เมื่อพูดถึงไก่ทอดเกาหลี หลายคนคงนึกถึง Bonchon เพราะเข้ามาทำตลาดในไทยระยะหนึ่งแล้ว แต่จริงๆ ยังมีอีกแบรนด์ที่ประวัติเก่าแก่กว่าคือ Kyochon เพราะก่อตั้งเมื่อปี 1991 แต่ถึงจะเก๋ากว่าก็ใช่ว่าจะไปได้สวยในตลาดต่างประเทศ
ไปต่างประเทศไม่ง่าย แม้เริ่มมีคนรู้จัก
ไก่ทอดเกาหลีนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับโลก ทั้งผ่านซีรีส์ต่างๆ รวมถึงการกล้าขยายไปต่างประเทศของ Bonchon แบรนด์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2002 ในเกาหลี แต่ไปเปิดร้านที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งพอเห็นอย่างนั้น Kyochon แบรนด์ที่เก่าแก่กว่าจึงยอมไม่ได้ และเริ่มขยายตลาดไปที่สหรัฐฯ บ้าง ในปี 2007 เพื่อสร้างรายได้ใหม่ เพราะตอนนั้นตลาดในประเทศก็เริ่มอิ่มตัวแล้ว
แต่ความไม่พร้อมของแผนธุรกิจ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม ทำให้ Kyochon ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากระหว่างปี 2007-2016 ร้านไก่ทอดเกาหลีรายนี้ไม่เคยมีกำไรเลย และขาดทุนกว่า 3,900 ล้านวอน (ราว 115 ล้านบาท) ในปี 2016 หรือคิดเป็น 35% ของรายได้บริษัท 10,300 ล้านวอน (ราว 305 ล้านบาท)
ประกอบกับการขาดทุนนั้น ทำให้ปัจจุบัน Kyochon เหลือสาขาในสหรัฐฯ เพียง 1 แห่งที่ Los Angeles จากเดิมที่เคยมีถึง 5 สาขา แต่ทางแบรนด์ก็ยังไม่ยอมแพ้ เพราะอยู่ระหว่างร่างแผนธุรกิจใหม่ เพื่อกลับไปลุยตลาดสหรัฐฯ ใหม่อีกรอบ เนื่องจากที่นี่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ
จีน-ญี่ปุ่น ก็ล้มเหลวไม่แพ้กัน
อย่างไรก็ตาม Kyochon ก็ประสบปัญหากับการทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะล่าสุดได้ปิดสาขาในกรุงโตเกียวเมื่อก.ย. 2016 หลังจากเปิดให้บริการได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น เนื่องจากพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นเกิดล้มละลายกระทันหัน ดังนั้นแผนการทำตลาดในประเทศที่มีขนาดเศรษฐใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกอีกครั้งจึงเงียบกริบ และไม่มีระยะเวลาชัดเจน
นอกจากนี้ Kyochon ก็ประสบความยากลำบากในประเทศจีนเด้วย และปัญหาเหล่านั้นก็เกิดจากการได้พาร์ทเนอร์ไม่ดี เช่นในปี 2012 ก็เซ็นสัญญากับพาร์ทเนอร์รายหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ และตกลงให้ทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ Kyochon เท่านั้น แต่สุดท้ายพาร์ทเนอร์เหล่านั้นกลับไม่แบ่งรายได้ให้ตามที่สัญญากันไว้ แถมไม่สามารถคุมเรื่องใดๆ ได้เลย
แต่ในอาเซียนยังได้รับความนิยม
ในทางกลับกันตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา กลับยังไปได้สวย และยังเตรียมขยายสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มด้วย ซึ่งการทำตลาดทั้งหมดนั้นยังคงรูปแบบเฟรนไชส์เหมือนกับที่ใช้ในประเทศอื่นๆ แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีบางสาขาปิดไปแล้วเช่นกัน ไม่รู้เพราะปัญหาเฟรนไชส์เหมือนที่อื่นหรือไม่
สรุป
การขยายออกไปตลาดต่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากไม่มีการวางแผนใดๆ อย่างเป็นระบบ เพราะการเริ่มใหม่ในพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ต้องคิดไว้เลยว่าเท่ากับศูนย์ เหมือนต้องสร้างอะไรขึ้นมาเองทั้งหมด ดังนั้นการขยายสาขาของ Kyochon คงเป็นบทเรียนสำคัญทางธุรกิจให้กับทั้งบริษัทเอง และผู้ค้ารายอื่นที่อยากออกไปหาโอกาสใหม่ๆ บ้าง
อ้างอิง // Korea Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา