“มหัศจรรย์แห่งเซลล์” ระบบ e-Learning จาก startup ที่อายุน้อยที่สุด

คำว่า startup ทางธุรกิจแบบเดิมๆ อาจจำกัดอยู่ที่กลุ่มคนเทคโนโลยีที่เริ่มต้นทำงานแล้ว แต่ถ้ามองในมุมการเริ่มต้น เรียนรู้ทางเทคโนโลยี ก่อนจะต่อยอดในอนาคต startup สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ในโรงเรียน เหมือนผลงานของกลุ่ม KW Conjuring ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.4 จากโรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเป็นนักเรียน ก็เข้าใจ pain point ของการเป็นนักเรียน และได้พัฒนาจนกลายเป็นระบบ e-Learning ที่สามารถย่อยข้อมูลทางวิชาการให้เป็นสื่อสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย ด้วย infographic และตัวการ์ตูน จนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 40 ทีมในโครงการ Digital Startup ของ DEPA

จุดเริ่มต้นจากในห้องเรียน สู่ระบบ e-Learning

กลุ่ม KW Conjuring ประกอบด้วย ฐิตินันท์ จำปาหวาย, วนาลี ชูทอง และจิราวรรณ วัฒนกูล บอกว่า จุดเริ่มต้นจากวิชาชีววิทยา ที่นักเรียนหลายคนน่าจะเจอปัญหาเดียวกัน นั่นคือ เนื้อหามีความละเอียดซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ เมื่อเรียนจบชั่วโมงแล้วก็มักจะลืมเนื้อหา ถ้าสามารถพัฒนาเนื้อหาให้มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความแปลกใหม่ น่าจะเป็นผลดีกับทุกคน

ดังนั้น จึงสร้างโปรแกรม e-Learning ขึ้นมา เน้นการใช้งานง่าย ใช้ตัวการ์ตูนดำเนินเรื่อง ซึ่งหลังจากพัฒนาแล้วก็นำไปทดลองใช้งานในโรงเรียน เพื่อหา feed back จากผู้ใช้จริง โดยเป็น e-Learning ของวิชาชีววิทยา ในหัวข้อ “มหัศจรรย์แห่งเซลล์”

เสียงตอบรับจากผู้ใช้บอกว่า โปรแกรม e-Learning ทำเป็นภาพ 3 มิติ ทำให้เห็นภาพส่วนประกอบของเซลล์ต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น เนื้อหาสนุกสนาน ช่วยในการจดจำได้ดี

ฝ่าด่านอรหันต์ เข้าสู่รอบ 40 ทีมสุดท้าย Digital Startup

“มหัศจรรย์แห่งเซลล์” ต้องการสร้างภาพให้ผู้เรียนเห็นได้ชัดเจน จึงใช้เครื่องมือต่างๆ ในการสร้างภาพ ทั้ง 2D และ 3D เช่น Adobe Captivate 9, Adobe Photoshop cc 2015 และ Autodesk Maya 2015 เป้าหมายคือ การสร้างความสนุกสนาน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้

และเพื่อต่อยอดผลงาน ทีม KW Conjuring จึงเข้าประกวดโครงการ Digital Startup เพื่อให้ผลงานเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยมี อาจารย์อำนาจ พรหมใจรักษ์ เป็นที่ปรึกษาของทีม เพราะหากสามารถพัฒนาโปรแกรม e-Learning ตัวแรกได้สำเร็จ น่าจะสามารถต่อยอดไปยังเนื้อหาบทเรียนอื่นๆ ได้ด้วย

อาจารย์อำนาจ บอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นจากเด็กนักเรียนเจอปัญหาในการเรียน และพยายามหาทางแก้ไข และไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะตัวเอง แต่ยังช่วยเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนได้ด้วย ซึ่งโรงเรียนให้การสนับสนุนนักเรียนในด้านวิชาการมาโดยตลอดอยู่แล้ว และเชื่อว่ากลุ่ม KW Conjuring จะเป็นแกนนำสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ต่อไป ขณะที่การแข่งขัน Digital Startup จะช่วยสร้างประสบการณ์ ได้เรียนรู้และนำมาพัฒนาตนเองต่อไป

ผลที่ได้รับคือ KW Conjuring ผ่านเข้ารอบ 40 ทีมสุดท้าย ได้เข้าร่วมกิจกรรม Level Up Camp เพื่อบ่มเพาะองค์ความรู้ให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในการสร้างรากฐาน Startup Ecosystem ของ DEPA

สรุป

การเป็น startup อาจไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นในวัยทำงาน น้องๆ ทีม KW Conjuring ได้แสดงให้เห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และการเข้าร่วม Digital Startup ของ DEPA จะมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสมาชิกในทีม ไม่ว่าจะผ่านเข้ารอบไปได้ลึกแค่ไหน แต่อย่างน้อยทั้ง 3 คน จะเป็นอนาคต startup ไทยที่มีความสามารถมากขึ้นแน่นอน

สตาร์ทอัพวัยทีน ชั้นม.4 Kw Conjuring : “มหัศจรรย์แห่งเซลล์”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา