เศรษฐกิจโลกยังอยู่บนความไม่แน่นอน กระทบวิถีชีวิตของผู้คนแทบจะทุกภาคส่วน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายระหว่างประเทศมหาอำนาจ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงเหล่านี้ยังส่งผลต่อสภาวะการลงทุนโดยรวม
ที่เห็นได้ชัดเจนคือสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทย กำลังเจอกับความท้าทายต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ความไม่แน่นอนภายนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศเองด้วย ที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เกิดความผันผวน ภาคธุรกิจแข่งขันได้ยากขึ้น นักลงทุนต่างชาติเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ในไทย เพราะเวลานี้ความน่าสนใจของ ‘ตลาดหุ้นไทย’ ลดลง เมื่อเทียบกับในอดีต
ดังนั้น นักลงทุนที่มองหาโอกาสใหม่ๆ และต้องการกระจายความเสี่ยง จึงหันมาให้ความสำคัญกับการกระจายพอร์ต ไปยังตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพสูง และหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามองที่สุดในเวลานี้คือ ประเทศจีน
เจาะลึกตลาดจีน: ปัจจัยเสี่ยงและตัวเร่งการเติบโต
ประเทศจีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่เน้นภาคการผลิตและส่งออก และโดดเด่นในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเป็นคนตนเอง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในรูปแบบใหม่มุ่งสู่การเติบโตเชิงคุณภาพ ซึ่งวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจีนมีศักยภาพด้านนวัตกรรมที่เทียบเท่ากับโลกตะวันตกและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก
แต่จีนยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งหนึ่งในแรงกดดันสำคัญมาจากนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยในปีที่ผ่านๆ มา อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed อยู่ในระดับสูง ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไปยังตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สะสมต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะการขึ้นภาษีศุลกากร (Tariffs) ที่ตอนนี้ขยับขึ้นมาที่ 20% และมีความเป็นไปได้ว่าอาจขยับขึ้นไปมากกว่านี้ กระทบต่อภาคการส่งออก ทำให้จีนต้องปรับกลยุทธ์เน้นพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
แม้จะเจอกับปัญหาเศรษฐกิจหลายปม รัฐบาลจีนก็ไม่ได้นิ่งดูดาย กลับมีความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่อยมา โดยในปี 2567 รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ช่วยกู้เศรษฐกิจฟื้นคืนมาได้ไม่น้อย โดยมุ่งไปที่การเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมๆ กับกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศ ออกมาตรการลดภาษี และแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างคาแก้ไม่ตกมาหลายปี
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่นี้ เริ่มออกฤทธิ์เห็นผลโดยการบริโภคภายในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว ยอดใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยว สินค้าฟุ่มเฟือย และเทคโนโลยีเริ่มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนทางด้านตลาดทุนจีนก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน แม้จะยังเจอความผันผวน โดย MSCI China Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 33% ในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมา (31 ธันวาคม 2024-18 กุมภาพันธ์ 2025) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาสนใจตลาดหุ้นจีน เนื่องจากการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ (Valuation) อยู่ในระดับที่น่าสนใจมากกว่าตลาดสหรัฐฯ และอินเดีย
สถานการณ์ที่ดูเป็นไปในทางบวกทั้งหมดนี้ สอดคล้องไปกับการเติบโตของ GDP จีนตลอดทั้งปี 2567 ขยายตัวที่ 5% ด้วยมูลค่ากว่า 134.9 ล้านล้านหยวน เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนถึงความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ ‘เอาจริงเอาจัง’
ในปี 2568 นี้ แม้จะยังเป็นอีกปีที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่ยึดโยงไปกับปัจจัยทางการเมืองโลก นโยบายของผู้นำคนใหม่ของมหาอำนาจอเมริกา กำลังเข้ามามีบทบาทต่อการขยับตัวของจีน การรับมือกับพายุลูกใหม่นี้ต้องเน้นพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ทำให้จีนเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับการร่วมมือนานาประเทศในลักษณะของพหุภาคี สร้างทางเลือกใหม่ให้มากกว่าเดิม
โดยอีกหนึ่งการพัฒนาที่น่าจับตา และถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน คืออุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชิป พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นตัวเร่งสำคัญดันให้จีนเข้าก้าวขึ้นไปสู่แนวหน้าด้านเทคโนโลยีบนเวทีโลกได้อีกทาง
จีนมีความได้เปรียบพื้นฐานที่ประเทศอื่น ๆ ไม่มี เช่น จำนวนบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งมีจำนวนถึง 3.5 ล้านคนต่อปี มากที่สุดในโลก คิดเป็น 4 เท่าของสหรัฐอเมริกาในปี 2020 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นจากการสนับสนุนของภาครัฐที่นำวิชาปัญญาประดิษฐ์มาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาต้องเรียน
นอกจากนี้ จีนยังมีห่วงโซ่อุปทานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แข็งแกร่ง จากการที่ภาครัฐได้สร้างกรอบการกำกับดูแลข้อมูลที่ครอบคลุม (comprehensive data governance framework) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งในการพัฒนา ecosystem ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI ecosystem) อีกทั้งจีนยังสนับสนุนเงินทุนจำนวน 1 ล้านล้านหยวนผ่านกองทุนนำร่อง VC แห่งชาติระยะเวลา 20 ปี เพื่อลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมถึงปัญญาประดิษฐ์และ quantum-computing
จังหวะลงทุนที่ใช่ สินทรัพย์ราคาถูกและการกระจายพอร์ตที่เหมาะสม
ในภาวะที่ตลาดโลกยังเต็มไปด้วยความผันผวน การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง (Portfolio Diversification) เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงได้ โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่ยังมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือสินทรัพย์ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจคือ การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นทั่วไป (Public Market)
ตลาดหุ้นโดยทั่วไปมักได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แตกต่างจาก Private Equity ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเลือกบริษัทที่มีพื้นฐานดีและศักยภาพเติบโตสูง
แน่นอนว่าตลาดที่กำลังได้รับความสนใจคือประเทศจีน แม้จีนต้องเจอกับแรงกดดันรอบด้าน แต่ประเทศมหาอำนาจนี้ยังคงเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และพลังงานสะอาด ดังนั้น การลงทุนใน Private Equity ของจีน จึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึงธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงก่อนที่บริษัทเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อการเติบโตระยะยาว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เปลี่ยนบทบาทจากประเทศรับจ้างผลิตหรือโรงงานโลก มาเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรม “คุณภาพสูง ราคาต่ำ” (high-quality low cost) และสร้างอุตสาหกรรมชั้นนำของตนเอง ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและยังเน้นไปที่อุตสาหกรรมใหม่อย่างเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ยกตัวอย่างเช่น
- อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและ AI บริษัทจีนกำลังพัฒนา AI ขั้นสูง และระบบ Large Language Model (LLM) หนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่เป็นฮือฮาในช่วงที่ผ่านมาคือ Deep Seek ซึ่งเป็น AI ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานเชิงลึก มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า OpenAI ถึง 90% เขย่าวงการเทคอเมริกา โดยการพัฒนา Deep Seek ได้เปลี่ยนโฉมวงการ AI ในจีน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากตะวันตก และสามารถแข่งขันกับบริษัทระดับโลกได้
- อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบขนส่งแห่งอนาคต จีนกำลังลงทุนในหุ่นยนต์ Humanoid และ eVTOL (electric Vertical Takeoff and Landing) หรืออากาศยานไฟฟ้าขึ้นลงแนวดิ่ง ซึ่งเป็นอนาคตของระบบขนส่งในเมืองและโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยังนำไปใช้ในภาคบริการ การแพทย์ และการขนส่งอัจฉริยะได้อีกด้วย
- อุตสาหกรรมด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างที่รู้ว่าจีนเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งในรูปแบบเงินอุดหนุนและนโยบายภาษี ทำให้บริษัทจีน เช่น BYD และ CATL สามารถครองตลาด EV และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้ นอกจากนี้ จีนยังมุ่งพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคตเพื่อรักษาตำแหน่งฐานการผลิตระดับโลก จีนจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตหนักไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในด้านพลังงานนำไปสู่โอกาสการลงทุนมหาศาล และสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่
- อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ เช่น Alibaba, JD.com, Pinduoduo และ Douyin E-commerce มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบริโภคภายในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันชื่อดังมากมายที่เติบโต เช่น Klook แพลตฟอร์มเสนอบริการด้านการท่องเที่ยวดาวรุ่งที่สามารถสร้างรายได้มากถึง 7.2 พันล้านดอลลาร์ พร้อมสนับสนุนการจ้างงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 2 แสนตำแหน่ง
- อุตสาหกรรมชีวเวชภัณฑ์และการแพทย์ โดยมุ่งเน้นไปที่วัคซีน เทคโนโลยี และยารักษาโรคซับซ้อน เช่น มะเร็งและโรคทางพันธุกรรม ผลักดันให้จีนเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการแพทย์ของโลก ซึ่งประเทศจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญในระดับโลกในด้านสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจีนนั้นมีส่วนร่วม 23% ของงานวิจัยยาใหม่ทั่วโลก รวมถึงเป็นฐานที่ให้บริการการทำวิจัย (Contract Research Organizations (CROs)) อย่าง WuXi AppTec, Lonza China และ Pharmaron และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 40% เนื่องจากต้นทุนของนักวิทยาศาสตร์จีน และความรวดเร็วในการทำ Clinical Trial ซึ่งจีนสามารถทดสอบจำนวนผู้ป่วยต่อการทดสอบต่อเดือนได้มากกว่าถึง 2-5 เท่า เราจึงเริ่มเห็นเทรนที่บริษัทยาจีนเริ่มมีการทำ License out ให้กับบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับนักลงทุนที่มองหาธุรกิจชีวเวชภัณฑ์และการแพทย์ ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมใหม่อื่นๆ อีกมากมายที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ เช่น อุตสาหกรรมอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม โครงการสถานีอวกาศ ส่งยานอวกาศไปสำรวจนอกโลก พัฒนาดาวเทียมใช้ในด้านโทรคมนาคมและการพยากรณ์อากาศ ฯลฯ
KVPE โซลูชั่นการลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ เปิดประตูสู่การลงทุนในจีน
การกระจายความเสี่ยงเป็นหัวใจสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกผันผวนเช่นนี้ โดยประเทศจีน ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่นักลงทุนให้ความสนใจ และเป็นแหล่งลงทุนที่น่าจับตามอง นักลงทุนที่สามารถเข้าใจแนวโน้มและปรับกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม สามารถใช้ ประตูสู่จีน ไปสู่โอกาสการลงทุนที่เติบโตได้
แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากอาจจะยังขาดประสบการณ์ในการลงทุนสินทรัพย์ของจีน หรือยังไม่คุ้นเคยกับตลาดนี้มากนัก ทางเลือกที่จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนได้ คือการลงทุนผ่านผู้บริหารจัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของประเทศจีน อย่าง KVPE
KVPE หรือ Kasikorn Vision (Shanghai) Private Fund Management Co., Ltd. เป็นบริษัทในเครือของ ธนาคารกสิกรไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้นักลงทุนไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทางเลือกในการเข้าถึงการลงทุนในจีน อีกทั้งยังเป็นบริษัทย่อยของธนาคารไทยรายแรกที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งกองทุน Private Equity จากสมาคมการจัดการสินทรัพย์แห่งประเทศจีน (AMAC) ได้รับโควตาการลงทุนจำนวน 1.5 พันล้านหยวน ผ่านโครงการ Qualified Foreign Limited Partner (QFLP) หรือโครงการที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถนำเงินทุนเข้าสู่ประเทศจีน
ปัจจุบันประเทศจีน ขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุนในรูปแบบ Private Equity โดยมีขนาดธุรกรรมสูงถึง 74,000 ล้านหยวน (ในปี 2023) จากความต้องการสภาพคล่องของบริษัทจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนผ่าน Private Equity ในจีนน่าสนใจ
KVPE เป็นบริษัทย่อยของธนาคารไทยรายแรกที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งกองทุน Private Equity และได้รับโควต้า QFLP (Qualified Foreign Limited Partner) จำนวน 1.5 พันล้านหยวน เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนตรงในจีนไม่ว่าจะเป็นผ่านกองทุนหรือการร่วมลงทุน (Direct investment) และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารกองทุน ทาง KVPE ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงที่ปรึกษาสินทรัพย์นอกตลาดกับมืออาชีพอย่าง StepStone Group (China) Ltd. ที่มีประสบการณ์ในตลาดจีนมากกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ StepStone Group Inc. บริษัทการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกนอกตลาดระดับโลก เชี่ยวชาญในการจัดการสินทรัพย์ทางเลือก เช่น
- Private Equity: การลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์
- Private Real Estate: การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพสูงนอกตลาด
- Infrastructure: การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
- Private Debt: การลงทุนในสินเชื่อนอกตลาด
บทบาทของ Stepstone Group (China) Ltd. จะให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์การลงทุน ข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงลึกแก่ทาง KVPE เพื่อให้บริษัทสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม โดย KVPE จะเตรียมออกกองทุนในช่วงกลางปี 2568 นี้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ ได้เข้าถึงสินทรัพย์ใน Private Equity ของจีน ด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจน ทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีพันธมิตรระดับโลก
การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์นอกตลาดจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ ณ ขณะนี้ และจีนยังคงเป็นหนึ่งในปลายทางที่น่าสนใจ ซึ่ง KVPE ได้เข้ามามีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมโอกาสระหว่างนักลงทุนไทยและอาเซียนกับตลาดจีน ด้วยความร่วมมือกับ StepStone Group (China) Ltd. บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนมืออาชีพ
ความร่วมมือของ 2 บริษัทชั้นนำนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้กระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากประเทศของตัวเอง เข้าสู่ตลาดศักยภาพอย่าง ‘ประเทศจีน’ นับว่าโอกาสทองที่ไม่ควรมองข้ามเลยจริงๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา