brand inside ได้นำเสนอเรื่องราวของ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต คอมเพรสเซอร์ อุปกรณ์สำคัญที่สุดในระบบทำความเย็น ที่กล่าวได้ว่าเป็นผู้ผลิตไทยรายแรกและรายเดียวในตลาดเวลานี้ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่
และครั้งนี้จะชวนมาพูดคุยต่อกับ ฐิติศักดิ์ สิมะกุลธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) เรียกได้ว่าเป็นรุ่นที่ 2 ที่มารับไม้ต่อจากรุ่นก่อตั้ง กับเป้าหมายในการยกระดับให้กุลธรเคอร์บี้ก้าวสู่ยุคใหม่ และทำกร Turnaround ธุรกิจให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง
บริหารแบบ Team Work ฟังเสียงพนักงาน
ฐิติศักดิ์ บอกว่า การรับไม้ต่อเป็นรุ่นที่ 2 เป็นเรื่องท้าทาย ในอดีตเรียนรู้การทำงานผ่านรุ่นก่อตั้งอย่างคุณลุงและคุณพ่อ ดังนั้นความรู้และประสบการณ์ต่างๆ อาจไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่สิ่งที่จะเน้นเพิ่มขึ้นคือการทำงานเชิงรุก การสร้างความร่วมมือ สร้าง Team Work ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบ Bottom Up น่าจะเป็นส่วนที่แตกต่างไปจากเดิม
“ในอดีตการทำงานจะเป็นลักษณะ Top Line คือผู้บริหารสั่งการลงไปเป็นส่วนมาก แต่ตอนนี้ต้องใช้การผสมผสาน ต้องฟังเสียงจากข้างล่างหรือ Bottom Up มากกว่าเดิม เพราะเชื่อว่ากุลธรเคอร์บี้ สามารถเติบโตต่อไปได้”
นอกจากการฟังเสียงพนักงาน การทำงานเป็น Team Work แล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องลงทุน คือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งกุลธรเคอร์บี้ คือโรงงานที่ผลิตคอมเพรสเซอร์มากกว่า 40 ปี เครื่องจักรก็มีอายุมาก ดังนั้นจำเป็นต้องลงทุนและปรับปรุงใหม่ ซึ่งจะต้องนำระบบ automation เข้ามามากขึ้น
แต่ยังคงยืนยันว่า พนักงาน 1,400 คนของกุลธรเคอร์บี้ ไม่มีนโยบาย Lay off คน ที่ผ่านมาเมื่อคอมเพรสเซอร์บางรุ่นมียอดขายลดลง แต่บางรุ่นสามารถทำตลาดได้ดี ก็ใช้วิธีการโยกย้ายกำลังคน สามารถทำงานทดแทนกันได้ในหลายส่วน แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของพนักงาน เมื่อผ่านการฝึกอบรมก็สามารถทำงานได้
อัพเกรดเทคโนโลยี ต้องทันสมัย คุณภาพดี แต่ควบคุมต้นทุนได้
ฐิติศักดิ์ ยอมรับว่า เทคโนโลยีคอมเพรสเซอร์ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คอมเพรสเซอร์ตัวเท่าเดิม ราคาต่ำลง ประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น มีการวิจัยและพัฒนาน้ำยาหล่อเย็นที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น วัตถุดิบหลัก คือโลหะ รวมถึงน้ำมัน มีการปรับตัวขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้ต้นทุนปรับตัวขึ้น
เป็นสิ่งที่ท้าทายว่าธุรกิจจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ แต่ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานคอมเพรสเซอร์ในไทยทยอยปิดตัวไป บางโรงงาน กุลธรเคอร์บี้ ก็ไปเทคโอเวอร์มา เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า กุลธรเคอร์บี้ สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และมีความยืดหยุ่นรับกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี
แม้แต่คู่แข่งหลักในตลาดโลกอย่างประเทศจีน ซึ่งมีโรงงานรวมกว่า 20 ราย สามารถผลิตและส่งออกได้ทั่วโลก แต่ก็มีโรงงานจำนวนไม่น้อยปิดกิจการไปหรือควบรวมกันเองทุกปี แต่กุลธรเคอร์บี้ ยังสามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง
เน้นผลิตภัณฑ์ทุกระดับสร้างความหลากหลาย
ในด้านของผลิตภัณฑ์คอมเพรสเซอร์ที่กุลธรเคอร์บี้ผลิต มีเกือบทุกรูปแบบ ผู้บริโภคอาจจะไม่คุ้นเคยเพราะคอมเพรสเซอร์ เป็นอุปกรณ์ในระบบทำความเย็นซึ่งอยู่ใน ตู้เย็น, ตู้แช่ และแอร์ ดังนั้นลูกค้าหลักของ กุลธรเคอร์บี้ คือผู้ผลิตสินค้าเหล่านั้น
ปัจจุบัน กุลธรเคอร์บี้ ผลิตคอมเพรสเซอร์ให้กับ ตู้แช่และแอร์เป็นหลัก คอมเพรสเซอร์สำหรับตู้เย็นมีผลิตเพื่อเป็นทางเลือกแต่ไม่เน้นมากนัก ตลาดหลักคือตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดอเมริกาด้วย หลังจากที่ควบรวมโรงงานของ Bristol อีกหนึ่งผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์ของอเมริกาเข้ามา และสามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐาน ก็ทำให้เริ่มทำตลาดได้แล้ว
“กุลธรเคอร์บี้ หรือ Bristol มารวมกันยิ่งทำตลาดได้ดีขึ้น ล่าสุดคือย้ายฐานการผลิต Bristol มาประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ทำให้ควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าเดิม (Bristol เดิมผลิตในอเมริกา ต้นทุนสูง) ตอนนี้เตรียมหาแหล่งกระจายสินค้าในอเมริกาเรียบร้อย”
จุดแข็งกุลธรเคอร์บี้ สร้างธุรกิจต้นน้ำ-กลางน้ำ สร้างความยืดหยุ่น
ฐิติศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า นอกจากพนักงานของกุลธรเคอร์บี้ ที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานแล้ว ตัวธุรกิจก็มีความยืดหยุ่นเช่นเดียวกัน โดยกุลธรเคอร์บี้เป็นโรงงานคอมเพรสเซอร์ ที่ขยายธุรกิจมาทำเหล็กและทองแดงเองด้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตคอมเพรสเซอร์ ทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และยังพัฒนาจนสามารถซัพพลายให้คู่แข่งได้ด้วย
นั่นทำให้ กุลธรเคอร์บี้มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ ทำให้ควบคุมต้นทุนได้ดี มีศักยภาพในการแข่งขัน ทำให้ตอนนี้น่าจะเป็นผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์เจ้าเดียวในโลกที่สามารถผลิตได้ครบทุกขนาด ทั้งเล็ก กลางและใหญ่ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นทางเลือกให้ลูกค้า
สำหรับปี 64 ที่ผ่านมา กุลธรเคอร์บี้สามารถขายคอมเพรสเซอร์ไปได้ 530,000 ลูก แต่ในปี 65 ตั้งเป้าว่าจะขายได้อย่างน้อย 600,000 ลูก ยังไม่รวมคอมเพรสเซอร์ของ Bristol ที่ปีแรกแม้จะเจอสถานการณ์โควิด แต่สามารถขายไปได้กว่า 10,000 ลูก คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ ยอดขายน่าจะเริ่มเห็นผลได้ปลายปี 65 ถึงปี 66
แน่นอนว่า เป้าหมายส่วนตัวของฐิติศักดิ์ คือ ต้องการ Turnaround ธุรกิจกุลธรเคอร์บี้ หลังจากขาดทุนมา 2-3 ปีจากการแข่งขันและวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ให้กลับมากำไรให้ได้ แต่เชื่อว่าด้วยความผูกพัน ประสบการณ์ยาวนาน ความยืดหยุ่นของธุรกิจและพนักงาน จะสามารถอยู่รอดและเติบโตและผลักดันยอดขายให้ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา