เสื้อผ้าที่ทำจาก ‘ฟางข้าว’ เปลี่่ยนขยะเกษตรให้เป็นเสื้อผ้าขึ้นห้าง KUBOTA x GREYHOUND ทำได้จริง

65% ของพื้นที่ประเทศไทยถูกใช้เป็นพื้นที่ ‘ปลูกข้าว’ หลังเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ เราจะมี ‘ขยะทางการเกษตร’ มหาศาล ที่หลายครั้งถูกกำจัดด้วยวิธีเผา ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงก่อให้เกิดไอเดียใหม่อย่างการแปลงร่าง ‘ฟางข้าว’ ไปเป็น ‘เสื้อผ้า’ ในการคอลแลปกันของ KUBOTA x GREYHOUND ใต้แคมเปญใหม่อย่าง “Turn waste to Agri-Wear”

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในงานของ ‘KUBOTA’ หรือ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด คือ พันธกิจทางด้านความยั่งยืน อย่างการหาวิธีในการ Upcycling เศษขยะที่เหลือทิ้งจากการทำเกษตรให้สามารถนำไปสร้างประโยชน์ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นงานปศุสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก รวมถึงทำเชื้อเพลิงชีวมวล

แต่ “Turn waste to Agri-Wear” แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา ตรงที่ได้ความร่วมมือจากสายแฟชันอย่าง GREYHOUND และสายศึกษาวิจัยอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เข้ามาร่วมด้วย

จุดเริ่มต้น คือ สยามคูโบต้า ได้พบงานวิจัย ‘นวัตกรรมเส้นใยฟางข้าวผสมเส้นใยจากรังไหม สู่การพัฒนาสิ่งทอเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ กรณีศึกษาตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์’ จากการทำงานของ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและเลี้ยงไหม ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ และกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรทอผ้า จังหวัดสุรินทร์

ทำให้สยามคูโบต้าเกิดไอเดียว่าจะสามารถนำแนวคิดนี้ไปทำให้เป็นรูปธรรมได้ จนกระทั่งได้พบกับ เกรฮาวด์ ออริจินัล แบรนด์คนไทยที่ออกแบบเสื้อผ้าสไตล์สตรีทแวร์ จึงเกิดเป็นแคมเปญ KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn waste to Agri-Wear” ขึ้น

‘ภาคิน เพ็ญภาคกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มัด แอนด์ ฮาวด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารแบรนด์ GREYHOUND ORIGINAL อธิบายว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างขยะและมลภาวะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะการผลิตเสื้อผ้าใช้ทรัพยากรอย่างมาก มีการใช้สารเคมีทั้งกระบวนการฟอกและการย้อม รวมถึงมีเศษผ้าเหลือทิ้งจากการตัดเย็บเป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมา บริษัทจึงอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงสร้าง Eco Fashion หรือแฟชั่นที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมขึ้น ตลอดช่วงวงจรชีวิตของสินค้าตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ ผลิต จำหน่าย สวมใส่ ไปจนถึงการทิ้งทำลาย ก่อนหน้านี้แบรนด์จึงได้เพิ่มกลุ่มไลน์สินค้า Green Label โดยสังเกตได้จากป้ายแท็กเสื้อสีเขียวซึ่งจะติดบนเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้ารีไซเคิล

อาทิ ผ้ารีไซเคิลที่ผลิตจากขวดน้ำพลาสติก ผ้าคอตตอนออแกนิก หรือการใช้ผ้าในสต็อกเพื่อลดการผลิตผ้าใหม่ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ และลดการใช้สารเคมีเท่านั้น แต่ยังเกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด

“คอลเลกชัน KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn waste to Agri-Wear ได้ออกแบบและผลิตเป็นสินค้าเสื้อผ้าสไตล์สตรีทแฟชั่นและมีความเป็น Unisex เสริมความโดดเด่นของลวดลาย Freehand และ Silhouette ที่ปักสไตล์ Handicraft บนตัวผ้าที่ตัดเย็บแบบ Modern Craft เพิ่มมิติด้วยการนำมาออกแบบผสมผสานกับเนื้อผ้าคอตตอนออแกนิก และผ้าร่มรีไซเคิล” นอกจากนั้น ยังมีจุดเด่นของฟางข้าว อย่างเป็นผ้าทรงตัว-ไม่ยับ ที่มาช่วยเสริมในการออกแบบด้วย

โดยได้วางขายในร้าน GREYHOUND STORE สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว และ EVERYTHINGHOUND STORE สาขาสยามพารากอน สาขาเมกาบางนา และเว็บไซต์

‘พิษณุ มิลินทานุช’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญวิกฤตทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ หรือแม้แต่ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงผลกระทบจากการเผาในภาคการเกษตร ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญของคนทั่วโลกที่ต้องหันกลับมาตระหนักถึงแนวทางในการแก้ไข เราเชื่อว่า ทุกคนบนโลกล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง

“เราเชื่อว่าแฟชั่นจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้ง่าย เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงเบื้องหลังความตั้งใจมากมายก่อให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนให้แก่โลก นอกจากนี้รายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้ทุกคนที่ซื้อสินค้าจะได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของภาคการเกษตร”

ข่าวเกี่ยวข้อง : สยามคูโบต้า ชูแนวคิด “เป็นมากกว่าเกษตรกร” สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตั้งเป้ายอดขาย 60,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา