เมื่อไทยช้า บัตรเครดิต KTC เลยจับมือ VISA ไปบอกแบงค์ชาติ ขอเปิดชำระเงินด้วย QR Code ที่เวียดนาม

ปกติแล้วการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตตามร้านต่างๆ ในประเทศไทยจะทำผ่านเครื่อง EDC กันเสียส่วนใหญ่ ซึ่งตัวเครื่องนี้ก็ค่อนข้างแพง ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าร้านค้าสามารถพิมพ์ QR Code ออกมาเพื่อรับชำระบัตรเครดิตได้ด้วย

QR Code Payment
ภาพจาก Shutterstock

เร่งเครื่องทดสอบ ก่อนนำกลับมาใช้จริง

ด้วยเหตุนี้เองทำให้บมจ.บัตรกรุงไทย หรือบัตรเครดิต KTC ตัดสินใจพัฒนาตัว Application ตรวจสอบการใช้บัตรเครดิต และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่าง TapKTC ให้รองรับการชำระเงินด้วย QR Code มาตั้งแต่แรก และขอนำบริการนี้ไปทดสอบใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตั้งแต่ปลายปีก่อน

ธศพงษ์ รังควร ผู้อำนวยการ บัตรเครดิต KTC เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้มีทางบริษัทเพียงรายเดียวที่ทดสอบอยู่ใน Regulatory Sandbox ของธปท. และภายในเดือนมี.ค. นี้น่าจะเพิ่มมาอีก 2 ราย แต่เพื่อที่จะก้าวไปไกลกว่านั้น บริษัทจึงเข้าไปคุยกับธปท. พร้อมกับ VISA เพื่อนำการชำระรูปแบบนี้ไปทดสอบในต่างประเทศด้วย

ธศพงษ์ รังควร ผู้อำนวยการ บัตรเครดิต KTC (ซ้าย) สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่าประจำประเทศไทย (ขวา)

“เราคุยกับ VISA เพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน และนำการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่าน QR Code ไปใช้ในต่างประเทศ ซึ่งเริ่มแรกจะไปที่เวียดนามก่อน โดยรอทางธปท. อนุมัติ และก้าวต่อไปคือการเข้าไปทดสอบในประเทศอินเดีย และกัมพูชา ที่ VISA เริ่มเข้าไปทำตลาดการชำระเงินด้วย QR Code ที่ทั้งสองประเทศนั้นแล้ว”

ปลอดภัยกว่าถือบัตรจ่าย และการพกเงินสด

สำหรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตด้วย QR Code ในต่างประเทศ ทางบริษัทจะทำตลาดภายใต้ชื่อ KTC Scan to Pay​ ​Cross Border ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เพราะการเข้าใช้งาน TapKTC เพื่อเปิดการชำระเงินด้วย QR Code ต้องเข้าถึงด้วยวิธี Bio-metric และทำผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

บริการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตของ VISA ในต่างประเทศ

ปัจจุบัน KTC มีจำนวนผู้ใช้งานบัตรเครดิตทั้งหมด 3 ล้านราย โดยมีผู้ใช้งาน TapKTC แล้ว 5 แสนราย ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดใช้งานเป็น 1.6 ล้านราย ส่วนพฤติกรรมการใช้งานบัตรเครดิตในระบบจะเริ่มเห็นจำนวน Transaction ขนาดเล็กมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้จับจ่ายด้วยบัตรเครดิตแค่สินค้าราคาสูง แต่ใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น

Cashless Society กับผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

ในทางกลับกันการรับชำระด้วย QR Code ยังช่วยสร้าง Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดให้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าเดิมเช่นกัน เพราะเมื่อร้านค้าเข้าถึงวิธีรับชำระเงินได้เพียงแค่พิมพ์ QR Code ออกมา ก็ทำให้ร้านค้าไม่ต้องพกเงินสด และสามารถเอาเวลาที่ต้องจัดการเรื่องนี้ไปต่อยอดธุรกิจ และลงทุนในสิ่งที่จำเป็นมากกว่าได้

สรุป

โดยส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบการชำระเงินด้วย QR Code เพราะสะดวก และเกือบทุกคนก็มีโทรศัพท์มือถือกันหมดแล้ว ดังนั้นคงมาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ส่วนเรื่องการนำ QR Code มาเป็นอีกวิธีชำระบัตรเครดิตก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ดังนั้นคงต้องรอดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะจริงจังกับเรื่องนี้มากขนาดไหน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา