เปิดกลยุทธ์ KTC และผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย Set Zero ปรับตัวอยู่รอดในยุคโควิด-19

KTC ปรับกลยุทธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว ปรับโฉม KTC World Travel Service ศูนย์บริการการเดินทางและการท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC โดยใช้ 3 แกนหลัก คือ ซ่อม สร้าง และสนับสนุน

เจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการ การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ภาพรวมของบัตรเครดิต KTC ด้านธุรกิจการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน KTC จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ด้านธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่

โดยได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินงานของ KTC World Travel Service ศูนย์บริการการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเคริต KTC โดยใช้ 3 แกนหลัก ได้แก่ ซ่อม สร้าง และ สนับสนุน

  • ซ่อม เรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาในอดีต ว่าอะไรที่ยังดีไม่พอ อะไรที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ทำความรู้จักลูกค้า ศึกษาความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก พัฒนาศักยภาพของทีมที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว สู่การให้บริการที่เป็นเลิศ
  • สร้าง พัฒนาช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกเพิ่มเติม จากเดิมที่เคยมีเพียงเว็บไซต์และคอลเซ็นเตอร์ ที่เปิดให้บริการเป็นเวลา ก็เปลี่ยนเป็นการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพราะถือว่าในช่วงนี้ลูกค้า และพันธมิตร ต้องการความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา ที่คอยให้คำแนะนำ
  • สนับสนุน ทำหน้าที่เชื่อมโยงความต้องการของตลาด และผู้ประกอบการ นำจุดแข็งที่มีมาให้บริการ ให้ลูกค้าได้ของที่มีคุณภาพมากที่สุด โดยเป็นพันธมิตรร่วมกับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น สายการบิน บริษัทนำเที่ยว องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ รถเช่า และแหล่งท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยว
Bangkok Thailand COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

ผู้ประกอบการ “ท่องเที่ยว” ปรับกลยุทธ์สู้โควิด

นอกจาก KTC จะปรับกลยุทธ์การให้บริการ โดยใช้แนวคิด ซ่อม สร้าง และสนับสนุน KTC ยังมีการจัดงานเสวนาพิเศษ “ฝ่าวิกฤตธุรกิจท่องเที่ยวไทยหลัง Set Zero” ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สนท.) Local Alike สมาคมการค้าธุรกิจที่พักไทย (TBAA) และโรงแรมโฮเทล ทรานซ์

โดยในขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก โรงแรมแต่ละแห่งมีทุนสำรองเหลืออยู่เพียง 3 เดือน แต่สถานการณ์โควิด-19 อยากยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ปีหน้า โดยความท้าทายของโรงแรมคือ จะทำอย่างไรให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามา โดยไม่ต้องลดคุณภาพการให้บริการของลูกค้า รวมถึงต้องมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ด้วย

โรงแรมโฮเทล ทรานซ์ หนึ่งในผู้ประกอบการโรงแรมในกรุงเทพมหานคร เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลางเดือนมีนาคม มีผู้ยกเลิกการเข้าพักจำนวนมาก จนต้องตัดสินใจปิดโรงแรมชั่วคราวในเดือนเมษายน ซึ่งหลังจากคลายล็อคดาวน์แล้ว จึงกลับมาเปิดโรงแรมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้มีผลตอบรับที่ดีมากขึ้น และมีผู้เข้าพักประมาณ 30%

แต่ทั้งนี้โรงแรมเองก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน เช่น การเปลี่ยนจากการเสิร์ฟอาหารแบบบุฟเฟต์ เปลี่ยนเป็นการเสิร์ฟแบบรายคนแทน

นอกจากนี้ โรงแรมหลายแห่งยังปรับกลยุทธ์เปลี่ยนโรงแรมให้เป็น State Quarantine ทำ Co-Working Space ให้เช่าทำงานในตอนกลางวัน หรือใช้แนวคิด Staycation ดึงดูดลูกค้าให้เข้าพักตอนกลางวัน เน้นการถ่ายรูป รับประทานอาหาร แล้วโพสต์ลง Social ต่างๆ รวมถึงปรับกลยุทธ์เปลี่ยนลูกค้ารายวัน เป็นลูกค้ารายเดือนแทน ถึงรายได้จะไม่มาก แต่ก็ยังสามารถทำให้อยู่รอดได้

ส่วนในเชิงการท่องเที่ยวชุมชนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ชุมชนต้องทำความเข้าใจว่าสินค้าการท่องเที่ยวคืออะไร และต้องสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้มีมากกว่า 1 อย่างในชุมชน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา