KTC ปรับกลยุทธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว ปรับโฉม KTC World Travel Service ศูนย์บริการการเดินทางและการท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิต KTC โดยใช้ 3 แกนหลัก คือ ซ่อม สร้าง และสนับสนุน
เจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการ การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ภาพรวมของบัตรเครดิต KTC ด้านธุรกิจการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน KTC จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ด้านธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่
โดยได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินงานของ KTC World Travel Service ศูนย์บริการการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเคริต KTC โดยใช้ 3 แกนหลัก ได้แก่ ซ่อม สร้าง และ สนับสนุน
- ซ่อม เรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาในอดีต ว่าอะไรที่ยังดีไม่พอ อะไรที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ทำความรู้จักลูกค้า ศึกษาความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก พัฒนาศักยภาพของทีมที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว สู่การให้บริการที่เป็นเลิศ
- สร้าง พัฒนาช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกเพิ่มเติม จากเดิมที่เคยมีเพียงเว็บไซต์และคอลเซ็นเตอร์ ที่เปิดให้บริการเป็นเวลา ก็เปลี่ยนเป็นการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพราะถือว่าในช่วงนี้ลูกค้า และพันธมิตร ต้องการความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา ที่คอยให้คำแนะนำ
- สนับสนุน ทำหน้าที่เชื่อมโยงความต้องการของตลาด และผู้ประกอบการ นำจุดแข็งที่มีมาให้บริการ ให้ลูกค้าได้ของที่มีคุณภาพมากที่สุด โดยเป็นพันธมิตรร่วมกับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น สายการบิน บริษัทนำเที่ยว องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ รถเช่า และแหล่งท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยว
ผู้ประกอบการ “ท่องเที่ยว” ปรับกลยุทธ์สู้โควิด
นอกจาก KTC จะปรับกลยุทธ์การให้บริการ โดยใช้แนวคิด ซ่อม สร้าง และสนับสนุน KTC ยังมีการจัดงานเสวนาพิเศษ “ฝ่าวิกฤตธุรกิจท่องเที่ยวไทยหลัง Set Zero” ร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สนท.) Local Alike สมาคมการค้าธุรกิจที่พักไทย (TBAA) และโรงแรมโฮเทล ทรานซ์
โดยในขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก โรงแรมแต่ละแห่งมีทุนสำรองเหลืออยู่เพียง 3 เดือน แต่สถานการณ์โควิด-19 อยากยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ปีหน้า โดยความท้าทายของโรงแรมคือ จะทำอย่างไรให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามา โดยไม่ต้องลดคุณภาพการให้บริการของลูกค้า รวมถึงต้องมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ด้วย
โรงแรมโฮเทล ทรานซ์ หนึ่งในผู้ประกอบการโรงแรมในกรุงเทพมหานคร เล่าว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลางเดือนมีนาคม มีผู้ยกเลิกการเข้าพักจำนวนมาก จนต้องตัดสินใจปิดโรงแรมชั่วคราวในเดือนเมษายน ซึ่งหลังจากคลายล็อคดาวน์แล้ว จึงกลับมาเปิดโรงแรมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในขณะนี้มีผลตอบรับที่ดีมากขึ้น และมีผู้เข้าพักประมาณ 30%
แต่ทั้งนี้โรงแรมเองก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน เช่น การเปลี่ยนจากการเสิร์ฟอาหารแบบบุฟเฟต์ เปลี่ยนเป็นการเสิร์ฟแบบรายคนแทน
นอกจากนี้ โรงแรมหลายแห่งยังปรับกลยุทธ์เปลี่ยนโรงแรมให้เป็น State Quarantine ทำ Co-Working Space ให้เช่าทำงานในตอนกลางวัน หรือใช้แนวคิด Staycation ดึงดูดลูกค้าให้เข้าพักตอนกลางวัน เน้นการถ่ายรูป รับประทานอาหาร แล้วโพสต์ลง Social ต่างๆ รวมถึงปรับกลยุทธ์เปลี่ยนลูกค้ารายวัน เป็นลูกค้ารายเดือนแทน ถึงรายได้จะไม่มาก แต่ก็ยังสามารถทำให้อยู่รอดได้
ส่วนในเชิงการท่องเที่ยวชุมชนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ชุมชนต้องทำความเข้าใจว่าสินค้าการท่องเที่ยวคืออะไร และต้องสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้มีมากกว่า 1 อย่างในชุมชน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา