ธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทำไมธนาคารกรุงไทยยังมีกำไรสุทธิโตถึง 7.6%
ครึ่งแรกของปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 16,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 63,635 ล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันมีรายได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันจำนองจากไตรมาสเรกของปีนี้
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.4% ส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อรวมของธนาคารขยายตัว 2% จากสิ้นปี 2561 เติบโตจากสินเชื่อทุกกลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ ลดลง 2.3% เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินรายย่อยผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงค่าธรรมเนียมการขายประกันผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ลดลง
ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 15.7% เพราะในไตรมาสที่ผ่านมาทางธนาคารตั้งเงินสำรองการด้อยค่าทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปัจจุบันอยู่ที่ 46.76% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ระดับ 43.64%
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.24% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 3.10%
หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) สิ้นเดือนมิ.ย. 2562 อยู่ที่ 107,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากสิ้นปี 2561
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างธนาคารได้ร่วมทุนกับบมจ.บัตรกรุงไทย จัดตั้ง บริษัท เคทีซี นาโน จำกัด และ บริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) จำกัด เพื่อขยายการให้บริการสินเชื่อรายย่อย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยต่อหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา