กรุงไทย กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2568 จำนวน 11,122 ล้านบาท เน้นดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง

ธนาคารกรุงไทย มีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2568 จำนวน 11,122 ล้านบาท เน้นดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง รักษาระดับ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายรอบด้าน เร่งช่วยเหลือลูกค้าแก้ไขปัญหาหนี้และปรับตัวเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน โดย Fitch  Ratings ปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็น bbb สะท้อนสถานะของธนาคารฯ ที่สามารถปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ ให้ความสำคัญกับ Stakeholders ได้อย่างครอบคลุมและสมดุล

ktb krungthai

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี  2568 ยังขยายตัวได้โดยเฉพาะจากการเร่งส่งออกสินค้าก่อนสหรัฐฯ ปรับอัตราภาษีศุลกากรสูงขึ้น ส่วนในครึ่งปีหลัง  ต้องเตรียมรับมือกับภาษีศุลกากรที่อาจจะสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  คาดว่าจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยชะลอตัว และสินค้าที่มีอุปทานส่วนเกินในต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ เพิ่มขึ้น กระทบผู้ประกอบการ ห่วงโซ่อุปทานและแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางพายุแห่งการ  เปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับชีวิตผู้คน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและประเทศ

ธนาคารดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์ด้วยความระมัดระวัง พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน โดยให้  ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ สนับสนุนการเร่ง  ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ  ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส2 ที่ได้ปรับเงื่อนไข  ให้สามารถช่วยเหลือ ลูกหนี้รายย่อยและ SME กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มที่เป็น NPL และกลุ่มเปราะบางที่ยัง ไม่เป็น NPL แต่มีสัญญาณอ่อนแอ ให้สามารถประคองตัว รักษาสินทรัพย์สำคัญกับความมั่นคงของครอบครัว ป้องกันไม่ให้ปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ที่ธนาคารดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งการลดภาระทางการเงินให้ลูกค้า ผ่านสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน และ สินเชื่อกรุงไทยรวมหนี้ (ภาคประชาชน) สินเชื่อกรุงไทยบ้านแลกเงิน  พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย สนับสนุนลูกค้าปรับตัว ฟื้นฟูกิจการ สร้างโอกาสจากความท้าทาย  และเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจยั่งยืนตามแนวทาง ESG รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง โดยยึดมั่นในแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

KTB Krungthai Bank ธนาคารกรุงไทย
ภาพจาก Shutterstock

ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2568 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/25671 ธนาคารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง บริหาร NPL ได้ดีที่ร้อยละ  2.94 เทียบกับร้อยละ 2.99 จากสิ้นปีที่ผ่านมา รักษา Coverage Ratio ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 194.1 รองรับสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมและรอบคอบ  ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 11,122  ล้านบาท โดยรายได้จากการดำเนินงานอยู่ในระดับทรงตัว เป็นผลจากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองลูกค้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลง ในขณะที่สินเชื่อเติบโตร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อภาครัฐ และการให้ความสำคัญกับ portfolio ที่มีความสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการให้บริการ Wealth Management ประกอบกับการขยายตัวของรายได้จากธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนและเงินลงทุนที่เป็นไปตามสภาวะตลาด พร้อมบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพโดยมี Cost to Income ratio ที่ร้อยละ 42.3

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2568  กำไรส่วนที่เป็นของธนาคารลดลงร้อยละ 5.1 จากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าฟื้นตัวได้ ในขณะที่รายได้อื่นขยายตัวโดยหลักจาก Wealth Management และธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายองค์รวม และการตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสม ธนาคารมีสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยยังคงรักษาสมดุลของ portfolio และรักษา Coverage Ratio ในระดับสูง

โดยรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 25671/ ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 1.1 จากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองลูกค้า แม้ว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคงเติบโต ธนาคารบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.3 และตั้งสำรองฯ ในระดับที่เหมาะสม โดยมีกำไรส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ  22,836  ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 2.7

ณ 30 มิถุนายน 2568 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ19.28 และเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 21.28  ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ BBB+ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha) พร้อมปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) เป็น ‘bbb’ จาก ‘bbb-‘ สะท้อนสถานะของธนาคารฯที่สามารถปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ

ในปี 2568   ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้แนวคิด Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต”  เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ  ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก  ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อ  เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของพนักงานซึ่งเป็นหัวใจขององค์กร  พร้อมให้ความสำคัญกับ Stakeholders ได้อย่างครอบคลุมและสมดุล  โดยล่าสุด ธนาคารและกลุ่มพันธมิตร ได้รับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการร่วมมือเชิงกลยุทธ์  ผสานความแข็งแกร่ง สร้างสรรค์บริการทางการเงินที่ก้าวข้ามข้อจำกัดในรูปแบบเดิม ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำอย่างตรงจุด สนับสนุนเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนให้เข้าสู่ระบบ ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพให้กับประเทศ   นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย และผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารในด้านการเติบโตและคุณภาพของสินเชื่อ โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 เศรษฐกิจจะอ่อนแรงลง และมีโอกาสที่อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 1% ส่วนมูลค่าการส่งออกอาจหดตัวกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ขณะที่ปี 2569 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2%

1/ข้อมูลภายหลังการปรับปรุงรายการที่เกิดจากบริษัทร่วมได้นำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย มาถือปฏิบัติเพื่อใช้แสดงเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับงวดปัจจุบัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา