โควิด-19 ระบาดรอบนี้ ธุรกิจร้านอาหารวิกฤตหนัก มูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.5 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ประเมินสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหาร ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ มูลค่าความเสียหายสูงสุด 2.59 แสนล้านบาท ร้านอาหารตกอยู่ในความเสี่ยงต้องปิดกิจการ หรือปิดกิจการไปแล้วนับแสนแห่งทั่วประเทศ

ร้านอาหาร หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วงที่สุด นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนในปีนี้สถานการณ์ของร้านอาหารก็ยังคงตกอยู่ในความเสี่ยง จากมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด และอาจกินเวลายาวนานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ย้อนกลับไปในปีที่แล้ว ร้านอาหาร คือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ผลประกอบการของธุรกิจอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวลงถึง 49.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารอาจมีผลประกอบการที่แย่เช่นนี้อีกครั้งในไตรมาส 3 ปี 2564 หรือยาวไปจนถึงสิ้นปี 2564 หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ธุรกิจร้านอาหารวิกฤตหนัก เสียหายนับแสนล้าน

ส่วนสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ก็น่าห่วงไม่แพ้กัน ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ได้ประเมินผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศ โดยพบว่ามีความเสียหายรวมทั้งสิ้น 107,500-214,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่หายไป 22-44% ของรายได้ร้านอาหารรวมปี 2562 โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  • กรณีที่ 1 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม และควบคุม 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 107,500 ล้านบาท จากร้านอาหารที่เตรียมปิดกิจการ 50,000 ราย
  • กรณีที่ 2 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และควบคุม 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 164,000 ล้านบาท จากร้านอาหารที่เตรียมปิดกิจการ 75,000 ราย
  • กรณีที่ 3 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และขยายมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปจนถึง 31 ตุลาคม และครอบคลุมทั่วประเทศ จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 214,600 ล้านบาท จากร้านอาหารที่เตรียมปิดกิจการ 100,000 ราย

ในขณะที่หากธุรกิจร้านอาหารปรับตัวสู่การขายอาหารผ่านบริการ Food Delivery ก็เป็นเพียงทางรอดที่สร้างรายได้เพียงพยุงกิจการให้คงอยู่เท่านั้น เพราะ Food Delivery ไม่ได้เหมาะกับร้านอาหารทุกประเภท เช่น ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ และร้านอาหาร Fine Dining รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงจนผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการสั่งอาหารจากร้าน แล้วหันมาทำอาหารเองที่บ้านมากขึ้น

สำหรับสัดส่วนรายได้ของร้านอาหารพบว่า เป็นรายได้จากการขายอาหารผ่าน Food Delivery ราว 20% ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2019 ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย

ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัว

อนาคตของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส มองว่ากว่าธุรกิจร้านอาหารจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะบรรเทาลงแล้วก็ตาม โดยมีปัจจัยหลักๆ 3 ประการด้วยกัน คือ

  • การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับปี 2019 ได้ในปี 2023 จากการประเมินของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)
  • กำลังซื้อของคนไทยยังเปราะบาง และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 1-2 ปี จากผลกระทบของภาคธุรกิจโดยรวม แรงงานถูกเลิกจ้าง หรือได้รับค่าจ้างลดลง ทำให้กำลังซื้อของคนไทนฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • ภาวะหนี้สินของร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัวได้ช้า

สำหรับหนี้สินของธุรกิจร้านอาหาร ข้อมูล ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่าเพิ่มขึ้น 26% อยู่ที่ 34,698 ล้านบาท เทียบกับ 27,544 ล้านบาทในปี 2019

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากร้านอาหารได้รับผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่

ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหารอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากธุรกิจร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบเหมือนเป็นลูกโซ่ด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส รายงานว่า ธุรกิจวัตถุดิบอาหาร มีสัดส่วนรายได้ราว 21% ของรายได้ร้านอาหารโดยรวม โดยประเมินว่า ธุรกิจวัตถุดิบอาหารจะสูญเสียรายได้ตามธุรกิจร้านอาหารไปด้วย 22,500-45,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังปี 2564

ธุรกิจวัตถุดิบอาหารที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มเนื้อสัตว์ ที่คิดเป็นสัดส่วน 50% ของต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ประมาณ 11,300-22,500 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มผักและผลไม้ ซึ่งเก็บรักษาได้ยาก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ราว 6,000-12,200 ล้านบาท และลำดับถัดมา คือกลุ่มข้าวและธัญพืช คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ราว 2,300-4,500 ล้านบาท

หากรวมมูลค่าความเสียหายของทั้งธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหาร คาดว่าจะมีความเสียหาย 130,000-259,600 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่

  • กรณีที่ 1 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัค 29 จะมีมูลค่าความเสียหาย 130,000 ล้านบาท
  • กรณีที่ 2 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด จะมีมูลค่าความเสียหาย 198,300 ล้านบาท
  • กรณีที่ 3 หากการล็อคดาวน์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน และขยายมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปจนถึง 31 ตุลาคม โดยบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ จะมีมูลค่าความเสียหาย 259,600 ล้านบาท

Cloud Kitchen คือทางออก แต่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐก็สำคัญ

ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ชี้ว่า ธุรกิจร้านอาหารหลีกเลี่ยงผลกระทบในช่วงการล็อคดาวน์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ทางออกของผู้ประกอบการคือ การปรับตัวสู่ Cloud Kitchen ซึ่งเป็นการทำธุรกิจร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน โดยใช้ครัวกลางให้ร้านอาหารหลายรายเข้ามาเช่าพื้นที่ เพื่อจำหน่ายอาหารแบบ Food Delivery และ Take Away เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเองสูง โดยเฉพาะในทำเลกลางเมือง มีทำเลที่สะดวกสำหรับการขนส่ง และธุรกิจร้านอาหารสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารกิจการได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารควรให้ความสนใจคือ ทำเลที่ตั้งของ Cloud Kitchen มักอยู่ในเมือง ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่อยู่ในตัวเมืองได้ แต่อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่อยู่ชานเมือง ดังนั้นการเลือกทำเล Cloud Kitchen จึงควรตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยชานเมืองด้วย เพื่อรับกับการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home

นอกจากการปรับตัวเข้าสู่ Cloud Kitchen แล้ว ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเพียงฝ่ายเดียวอาจทำให้อยู่รอดได้ยาก สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ

ทั้งในระยะเร่งด่วนในช่วงเวลาการล็อคดาวน์ ภาครัฐอาจมีโครงการสั่งซื้ออาหารจากร้านอาหาร หรือวัตถุดิบอาหารเพื่อป้อนให้แก่ครัวกลางสำหรับส่งต่อไปยังผู้ติดเชื้อไวรัสที่อาจรักษาตัวแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหารต่างๆ จากภาครัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ให้ความเห็นว่า ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากมูลค่าความเสียหายของทั้งสองธุรกิจดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 130,000-259,600 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ขณะที่ เงินช่วยเหลือทั้งหมดจากภาครัฐในปัจจุบันอยู่ที่ 162,800 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ใช้เยียวยาธุรกิจอื่นด้วย ภาครัฐจึงอาจจำเป็นต้องพิจารณามาตรการเยียวยาที่มากขึ้น เพื่อประคองธุรกิจทั้งสองไว้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา