จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่าไรถึงพอ? กรุงไทยคาดปี 2573 เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแตะ 1.2 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) หรือที่หลายคนเรียกกันว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า และตอบกระแสรักษ์โลกเพราะการใช้ BEV ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 37%-69% เมื่อเทียบกับยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) 

นอกจากนี้ในระดับประเทศการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Emission ที่ทั่วโลกกำลังดำเนินการอยู่ ทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ BEV เพิ่มขึ้นทั่วโลกโดย Goldman Sachs คาดว่ายอดขาย BEV ของทั่วโลกจะเพิ่มจาก 2 ล้านคัน ในปี 2563 เป็น 70 ล้านคัน ในปี 2583

ในส่วนของไทย รถยนต์ไฟฟ้า BEV คาดว่ายอดจดทะเบียนสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นด้วย แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า ปัจจุบัน ไทยมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

ปัจจุบันไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าและจุดชาร์จฯ มากแค่ไหน?

ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ระบุว่า แนวโน้มยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ของไทย ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 101,000 คัน ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.29 ล้านคัน เพราะมีปัจจัยหนุนจาก การผลักดันของภาครัฐ และต้นทุนการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง (มีแนวโน้มจะต่ำกว่าต้นทุนการใช้งานของรถยนต์น้ำมัน)

ขณะที่ ปัจจุบันในประเทศไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าในไทยมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 4,628 หัวชาร์จ แม้ประเมินว่าเพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน แต่ในบางภูมิภาคยังมีไม่เพียงพอ เช่น ภาคเหนือ และภาคใต้

รายละเอียดดังนี้

ประเทศไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,482 สถานี มีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 4,628 หัวชาร์จ (ข้อมูล ณ 22 พ.ค.2566) โดยแบ่งเป็น

  • เครื่องอัดประจุแบบ AC Normal Charge (AC) รวม  2,833 หัวชาร์จ 
  • เครื่องอัดประจุแบบเร็ว (Fast Charger) ราว 1,795 หัวชาร์จ

โดยสถานีเหล่านั้นกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกเป็นหลัก ซึ่งคิดสัดส่วนราว 41% และ 24% ของจำนวนสถานีทั้งหมดตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2573 ความต้องการใช้บริการสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ราว 10,294 หัวชาร์จ (เพิ่มอีก 5,147 เครื่อง จากปัจจุบัน) เพื่อให้ครอบคุลมความต้องการ โดยตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของภาครัฐที่จะเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าดังกล่าวอีก 10,205 หัวชาร์จจากปัจจุบันภายในปี 2573 

ในด้านตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องอัดประจุไฟฟ้า พบว่า จังหวัดที่ควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger เพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้บริการในปี 2573 เช่น 

  • กรุงเทพฯ 
  • เชียงใหม่ 
  • ชลบุรี 
  • สงขลา 
  • ขอนแก่น 
  • อุบลราชธานี 

โดยควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทุกๆ ไม่เกิน 160 กิโลเมตร เนื่องจากระยะดังกล่าวเป็นระยะในการขับขี่ที่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยมีแนวโน้มที่จะใช้บริการอัดประจุไฟฟ้า

นอกจากนี้ควรติดตั้งหัวชารืจรถยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนมาก และยังมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าไม่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ที่เดินทางท่องเที่ยว เช่น 

  • กาญจนบุรี 
  • ประจวบคีรีขันธ์ 
  • เพชรบุรี 
  • เชียงราย 
  • สมุทรสงคราม 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะใหญ่ขึ้นแต่ไหน?

Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่า หากผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าของไทยขยายการลงทุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามการประเมินในข้างต้น คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าประมาณ 11,700 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้รายได้รวมของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเป็น 11,100 ล้านบาท ในปี 2573 (จากปี 2565 ที่ 230 ล้านบาท)

*ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าสัดส่วนของผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอยู่ราว 40% ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนดังกล่าวของทั่วโลก ยกเว้นจีน

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ได้อานิสงค์จากการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ได้แก่ธุรกิจจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า 

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากขยายการลงทุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามความต้องการในปี 2573 มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 

อันดับ 1 กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มนี้ราว 8,550 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 

1) รายได้จากการจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ราว 5,940 ล้านบาท 

2) รายได้จากการจัดจำหน่ายหม้อแปล Main Distribution Board (ตู้ MDB) มิเตอร์ไฟฟ้า และสายดิน ราว 2,250 ล้านบาท 

3) รายได้จากการให้บริการติดตั้งหม้อแปลง ตู้ MDB และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ประมาณ 360 ล้านบาท 

*โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าเลือกใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงสุด 120 กิโลวัตต์ 

อันดับ 2 กลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งงานโครงสร้าง คาดว่าจะมีรายได้ราว 2,570 ล้านบาท มาจากการให้บริการก่อสร้างฐานรากสำหรับรองรับโครงสร้างหลังคาและเครื่องอัดประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งหลังคาให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าราว
(ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะใช้เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger 1 เครื่องต่อสถานี) 

อันดับ 3 กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลง และอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า ที่คาดว่าจะได้รับรายได้จากการขายให้กับผู้จัดจำหน่ายเครื่องอัดประจุไฟฟ้าไปติดตั้งต่อราว 2,250 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น
1) รายได้จากการขายหม้อแปลงราว 1,140 ล้านบาท
2) รายได้จากการขายตู้ MDB มิเตอร์ไฟฟ้า และสายดิน ประมาณ 1,110 ล้านบาท(ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าแต่ละสถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้หม้อแปลง ตู้ MDB และเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger อย่างละเครื่อง)

โดยรวมแล้วกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะได้รับอานิสงส์จากการขยายการลงทุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามความต้องการใช้บริการในปี 2573 ทั้งหมดราว 13,360 ล้านบาท 

ภาครัฐควรสนับสนุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่างไร?

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า หากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนในธุรกิจบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้ามากขึ้น ควรออกนโยบายส่งเสริมการลงทุน ได้แก่

  • ควรยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องอัดประจุไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตราการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า 3-5 ปี เพื่อลดต้นทุนในการลงทุนของธุรกิจดังกล่าว
  • ควรจัดตั้งหน่วยงานกลางในการติตต่อประสานเกี่ยวกับการขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว
  • ควรจัดทำข้อมูลและวิเคราะห์ความเพียงพอของเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถติตตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เหมาะกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ และลดโอกาสขาดทุน ซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายของประเทศเยอรมนี

ที่มา Krungthai COMPASS

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา