เปิดแผนธุรกิจธนาคารกรุงไทย ลงทุนไอที 5 ปี 19,000 ล้าน เน้นประสิทธิภาพของธนาคารดีขึ้นกว่าเดิม

Brand Inside รวบรวมมุมมองสำคัญๆ จาก CEO ของธนาคารกรุงไทยที่ได้เปิดเผยแผนธุรกิจของธนาคาร แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของธนาคาร

ภาพจาก Shutterstock

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เปิดเผยถึง แผนการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยในปี 2562 นี้ว่า ธนาคารกรุงไทยในอนาคตจะมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และต้องเป็นองค์กรเพื่อความยั่งยืน เติบโตแบบมีเสถียรภาพ และเข้มแข็ง โตไปพร้อมๆ กับถึงผู้มีส่วนได้เสีย เพราะรัฐบาลถือหุ้น 56% และสิ่งที่เราได้เห็นปีนี้จะเห็นธนาคารจะเน้นปฏิบัติมากขึ้นกว่าในปีที่แล้ว

สำหรับปีผ่านมามีหลายๆ อย่างผิดคาด

KTB ในช่วงปีที่ผ่านมากำลังปรับพอร์ตสินเชื่ออย่างหนัก โดยเฉพาะ 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มสหกรณ์ ลดจาก 120,000 ล้าน มาเหลือ 70,000 ล้าน การปรับลดลงครั้งนี้ลดลงแบบไม่ตั้งใจ ตอนแรกธนาคารตั้งเป้าลดพอร์ตสินเชื่อลงมาเหลือ 90,000 ล้าน

ส่วนขณะที่พอร์ตของลูกค้า กลุ่ม SME ที่อยู่ในกลุ่มอตุสาหกรรมที่เป็นตะวันตกดินก็กำลังเร่งปรับพอร์ต มาเน้นสินเชื่อ SME ที่ธุรกิจกำลังเติบโตมากขึ้น

รู้ว่าช้าแต่กำลังแก้ไข

ผยง ยังได้กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยยังมีหลายเรื่องที่ทำได้ช้า แต่อยู่จุดยืนที่แข็งแรงคือธนาคารของรัฐ แต่ธนาคารพยายามปรับตัวอย่างหนักในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในระบบไอที โดยงบลงทุน 5 ปี มูลค่าการลงทุน 19,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะลงทุนมากถึง 12,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็กำลังผลักดันแพลตฟอร์มอย่าง Krungthai NEXT โดยตั้งเป้าในปีนี้จะมีลูกค้าใช้งานถึง 10 ล้านคน ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Krungthai NEXT นี้มีผู้ใช้งานอยู่ราวๆ 4 ล้านคน ซึ่งธนาคารกำลังขยายระบบให้รองรับกับปริมาณการใช้งานที่สูง คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือนมีนาคม

นอกจากนี้ธนาคารกำลังแก้ปัญหา ATM ต้องตรงตามความต้องการ เช่น ระบบปิดปรับปรุงน้อยลง เพิ่มเครื่อง ATM รุ่นใหม่มากขึ้น ล่าสุดสั่งไปกว่า 3,000 เครื่อง หรือแม้แต่การย้ายตู้ ATM ให้ตรงกับความต้องการชุมชน ฯลฯ

ร่วมมือมากขึ้น

ขณะเดียวกันตัวธนาคารกรุงไทยเองก็ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กยศ ในเรื่องของเงินกู้ทั่วประเทศ หรือเรื่องของบัตรขนส่งมวลชนต่างๆ ที่กำลังทยอยขยายความร่วมมือไปมากขึ้น และยังมีโครงการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ร่วมมือกับ บสย ปล่อยกู้ให้กับร้านธงฟ้า
  • ร่วมมือกับกรมศุลกากร เช่น กรุงไทย Logistic Card
  • ร่วมมือกับกรมบัญชีกลางในการทำระบบตัดจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ
  • บัตรสวัสดิการของรัฐ

ในอนาคตธนาคารกำลังจะร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ปตท. ไปรษณีย์ไทย และรวมไปถึงเรื่องร้านค้าชุมชนที่ล่าสุดธนาคารกรุงไทยได้นำเครื่อง EDC ไปติดตั้งแทบจะทุกตำบลทั่วประเทศแล้วด้วย นอกจากนี้ความร่วมมือกันภายในหน่วยงานของ KTB จะร่วมมือกันมากขึ้น เช่น เรื่องของระบบไอทีจะเป็นระบบโครงสร้างที่เชื่อมโยงกัน เช่น KTB กับ KTC หรือแม้แต่การถ่ายโอนบุคลากรด้วย

ปัญหาเรื่องระบบการทำงาน

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าธนาคารพบกับปัญหาพนักงานยักยอก หรือแม้แต่โกงลูกค้า แต่ KTB ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากปัจจุบัน Social Media มีบทบาทมากขึ้น โดยธนาคารกำลังเร่งปรับปรุงระบบดำเนินงาน เช่น การนำระบบไอทีมาใช้ อย่างเช่น E-Slip หรือ E-Signature เร่งโครงการอ่านบัตรประจำตัวประชาชนทุกเคาเตอร์ ของธนาคาร การปรับปรุงกล้อง CCTV และลดความเสี่ยงด้วยระบบ Biometric

นอกจากนี้ธนาคารยังต้องปรับปรุงในเรื่องของพนักงานเช่นเดียวกัน และยังต้องปรับกระบวนการทำงานจะต้องมีกลไกลและประสิทธิภาพจะเพียงพอ ซึ่งในอนาคตจะเช็คเรื่องโกงได้ไวมากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงเรื่องศูนย์ร้องเรียนของธนาคาร คาดว่าเรื่องนี้จะแล้วเสร็จในไตรมาส 2

เรื่องของสาขาและพนักงาน

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารอื่นๆ กำลังทยอยปิดสาขาลงอย่างมาก รวมไปถึง KTB ด้วยเช่นกัน แต่หลังจากศึกษาข้อมูลแล้ว ทำให้ KTB ตัดสินใจชะลอการปิดสาขา เพราะลูกค้ามาใช้งานมากขึ้น เนื่องจากหลายๆ แห่งธนาคารอื่นปิดกันหมด

สำหรับมุมมองของเรื่องสาขานั้น ผยง ได้เผยว่า จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของสาขามากขึ้น ปัจจุบันธนาคารมีสาขา 1,100 สาขา และภายใน 2 ปี จะปรับเหลือประมาณ 1,000 สาขา แต่จะมีการย้ายหรือควบรวมสาขาในละแวกนั้นๆ หรือแม้แต่การเปิดสาขาใหม่ แต่ไม่ได้ปิดหมด

ทางด้านพนักงานที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 21,000 คน ธนาคารตั้งเป้าที่จะทยอยลดจำนวนพนักงาน 30% ภายใน 4-5 ปี ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นจำนวนหนึ่งก็มีพนักงานที่เกษียณอายุอีกด้วย การลดพนักงานจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะพนักงานคือส่วนสำคัญ สำหรับธนาคารจะเร่งปรับทักษะของพนักงานใหม่ เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการลงทุน หรือประกันต่างๆ แนะนำให้ลูกค้ากลับบ้านไปพิจารณาก่อนซื้อได้

ขณะเดียวกันพนักงานปัจจุบันก็ต้องชักชวนลูกค้ามาใช้บริการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องใช้คนแน่นอน ไม่ต้องอยู่สาขาด้วย ซึ่ง ผยง มองว่าพนักงานยังเป็นส่วนสำคัญของธนาคาร แต่ต้องปรับเปลี่ยนทักษะ ผยง ยังได้เสริมว่า ความสำเร็จของ KTB คือ อธิบายในองค์กรว่าไม่ต้องสับสนเหมือนธนาคารอื่นๆ เรื่องของการลดพนักงาน

ภาพจาก Shutterstock

ประสิทธิภาพธนาคารต้องดีขึ้น

ปัจจุบันธนาคารจะทำรูปแบบธุรกิจเดิมๆ ไม่ได้แล้ว และรวมไปถึงมาร์จินของธนาคารจะเท่าแบบเดิมไม่ได้แล้ว บริบทเดิมๆ ทำไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้เทคโนโลยีจะนำมาใช้แบบประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกเรื่องที่จะได้เห็นในปีนี้จาก KTB คือ ธนาคารจะเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อยด้วย แต่มีแรงกดดันจากหนี้สินครัวเรือนที่สูง นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันที่สูงด้วย แต่ธุรกิจของธนาคารหลักๆ ยังเป็นรับเงินฝากและปล่อยกู้ ซึ่งยังสำคัญมากๆ

ผยง ยังมองอีกว่า Ecosystem ของ KTB สำคัญมาก เพราะทุกคนใช้บริการกรุงไทย ทำให้มีแหล่งเงินทุนสภาพคล่องสูง ซึ่งสำคัญกับธนาคารมากๆ ปัจจุบันธนาคารได้เงินฝากจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือ CASA อันดับ 2 ของประเทศ และทำให้ต้นทุนทางการเงินของ KTB ถูกลง ทำให้ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย MRR เหมือนธนาคารอื่นๆ นอกจากนี้ธนาคารจะไม่ปล่อยกู้จนมากเกินไปด้วย ปัจจุบัน KTB มีอัตราส่วนเงินฝากต่อปล่อยกู้ 92%

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็มีความสำคัญ ในอนาคตหลังจากนี้ดอกเบี้ยจะไม่หว่านแหเหมือนเดิมแล้ว โดยธนาคารกำลังทำ Digital Lending นอกจากนี้ธนาคารกำลังทดลองโมเดล Credit Scoring แบบใหม่ๆ อยู่ ซึ่งลูกค้าก็จะเรตดอกลดลง อย่างไรก็ดีในเรื่องของ Digital Lending นี้ข้อมูลส่วนบุคคลก็สำคัญไม่แพ้กัน

ประเด็นอื่นๆ

  • ปีที่แล้วที่ Krungthai NEXT มาช้าเพราะว่ามีปัญหาในเรื่องรูปร่างหน้าตาของโปรแกรม ซึ่งก่อนหน้าคือการจ้าง Consult มาดูแล แต่ต้องรื้อใหม่หมด
  • เรื่องของ NPL หุ้น EARTH นั้น ธนาคารได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยในคดีนี้
  • ธนาคารต้องยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีการประเมินในแต่ละไตรมาสเรื่อยๆ ต่างกับในอดีต
  • ความกังวลอีกเรื่องคือ การออกหุ้นกู้ของบริษัทใหญ่ๆ ทำให้ความเงินกู้จากธนาคารลดลง
  • ธนาคารในอนาคตคือลดต้นทุน โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้ กำไรที่หายไป 1 ล้านบาท ธนาคารต้องลดต้นทุน 4-5 ล้านบาท
  • ผยง มองว่า อุตสาหกรรมธนาคารไทยธนาคารขนาดกลางและเล็กจะควบรวมกิจการกันมากขึ้น
  • นอกจากนี้มุมมองของ ผยง สำหรับเรื่อง FinTech อย่าง Alipay หรือ WeChat Pay นั้น ผยง มองว่าท้ายที่สุดแล้ว FinTech จะต้องมีการกำกับดูแลไม่ต่างกับธนาคาร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ