เปิด 5 กลยุทธ์การแข่งขัน “ธนาคารกรุงไทย” กับความท้าทายใหม่ในวันที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ

ธนาคารนับว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และการถูกเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน (Disrupt)

Krungthai Bank

ธนาคารกรุงไทย ก็เป็นอีกธนาคารหนึ่งที่ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจของประเทศ และเทคโนโลยีที่จะเข้ามา Disrupt การทำงานแบบเดิมๆ ของพนักงาน

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงความท้าทายในการปฎิรูปธนาคารในยุคดิจิทัล ว่ามี 3 ประการสำคัญด้วยกัน ได้แก่

    1. การใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เข้าใจพฤติกรรมของคน ทำตัวเป็นเหมือน Personalize Banking เข้าไปฝังตัวอยู่ในพฤติกรรมของคน
    2. ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด มีความเป็นระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ใช้ระบบ Cloud ประมวลผลอย่างรวดเร็ว ใช้ข้อมูลให้มากที่สุด
    3. ต้องปฎิรูปองค์กร เพื่อการบริการ มีความยืดหยุ่น ปรับตัวอย่างรวดเร็ว Reskill และ Upskill ของพนักงาน โดยไม่มีการปลดพนักงานออก
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี ผยง ยอมรับว่า ธนาคารกรุงไทย เคยตามหลังธนาคารคู่แข่งด้านเทคโนโลยีอยู่ 5 ปี ข้อเสียคือพนักงานของธนาคารไม่คุ้นเคยกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการบริการ กระบวนการภายในธนาคารมีความล้าหลัง มีความเป็น Manual อยู่มาก

แต่ข้อดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้ช้ากว่าธนาคารอื่นๆ คือ ต้นทุนเทคโนโลยีมีราคาถูกกว่า จนในท้ายที่สุดแล้วระบบ Krungthai Next ออกแบบให้รองรับผู้ใช้งานได้ราว 40-60 ล้านคน และใช้ระบบ Cloud 100% ซึ่งเป็นผลจากการตามหลังคู่แข่งอยู่ 5 ปี

ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเพียงหนึ่งเดียว

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นกระแส และได้รับการพูดถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ การที่ธนาคารกรุงไทยหลุดพ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจ จากการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ผยง เล่าว่า ธนาคารกรุงไทยแม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง แต่สาระสำคัญไม่ได้มีความแตกต่าง ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเช่นเดิม

โดย ผยง อธิบายว่าการทำงานต่างๆ ของธนาคารกรุงไทยยังคงเหมือนเดิม เพราะปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงไทย คือ กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 55.07% มานานกว่า 30 ปี ดังนั้นพื้นฐานของธนาคารกรุงไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ DNA ของธนาคารกรุงไทย คือการแข่งขันกับพาณิชย์รายใหญ่อื่นๆ มาตลอดเวลา ต้องตอบโจทย์ทั้งการแข่งขัน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลายเป็นจุดแข็งที่สมดุล

5 กลยุทธ์เสาหลักการทำธุรกิจในอนาคตของกรุงไทย

แน่นอนว่าธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่มี DNA การแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่น จำเป็นที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ที่นับว่าเป็น เสาหลัก สำคัญที่จะพาธนาคารกรุงไทยไปสู่อนาคตข้างหน้า ซึ่งผยง เล่าว่ามีด้วยกัน 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

    • การประคับประคองธุรกิจเดิม ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ ประคับประคองลูกหนี้ NPL ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
    • สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล รวมถึงเปลี่ยนบริการให้เป็นการขาย
    • ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (Paperless) นำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการทำงาน เช่น กระบวนการพิจารณาสินเชื่อจะไม่ใช้กระดาษเลย
    • ทำธุรกิจแบบ X2G2X โดยที่ X จะเป็นคู่ค้า
    • ยึดหลักแนวคิด “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” Upskill Reskill ปรับรูปแบบการทำงานให้ตอบโจทย์กับชุมชน นำสู่ความยั่งยืนของธนาคารกรุงไทย

ผยง ยังยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการปลดพนักงานของธนาคารออก เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่จะเน้นการ Reskill และ Upskill ของพนักงาน ให้พนักงานสามารถทำงานอย่างอื่น และย้ายสถานที่การทำงานได้

นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการทำงานของธนาคารกรุงไทย และการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ยังเห็นได้จากการที่ธนาคารกรุงไทย ประกาศเปิดตัว อินฟินิธัส บาย กรุงไทย เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและต่อยอดไปนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านแนวคิดในเรื่อง Open Ecosystem และช่วยธุรกิจรายเล็กให้อยู่รอดได้ ไปก่อนหน้านี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา