ธนาคารนับว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และการถูกเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน (Disrupt)
ธนาคารกรุงไทย ก็เป็นอีกธนาคารหนึ่งที่ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจของประเทศ และเทคโนโลยีที่จะเข้ามา Disrupt การทำงานแบบเดิมๆ ของพนักงาน
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงความท้าทายในการปฎิรูปธนาคารในยุคดิจิทัล ว่ามี 3 ประการสำคัญด้วยกัน ได้แก่
-
- การใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เข้าใจพฤติกรรมของคน ทำตัวเป็นเหมือน Personalize Banking เข้าไปฝังตัวอยู่ในพฤติกรรมของคน
- ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด มีความเป็นระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ใช้ระบบ Cloud ประมวลผลอย่างรวดเร็ว ใช้ข้อมูลให้มากที่สุด
- ต้องปฎิรูปองค์กร เพื่อการบริการ มีความยืดหยุ่น ปรับตัวอย่างรวดเร็ว Reskill และ Upskill ของพนักงาน โดยไม่มีการปลดพนักงานออก
เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี ผยง ยอมรับว่า ธนาคารกรุงไทย เคยตามหลังธนาคารคู่แข่งด้านเทคโนโลยีอยู่ 5 ปี ข้อเสียคือพนักงานของธนาคารไม่คุ้นเคยกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการบริการ กระบวนการภายในธนาคารมีความล้าหลัง มีความเป็น Manual อยู่มาก
แต่ข้อดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้ช้ากว่าธนาคารอื่นๆ คือ ต้นทุนเทคโนโลยีมีราคาถูกกว่า จนในท้ายที่สุดแล้วระบบ Krungthai Next ออกแบบให้รองรับผู้ใช้งานได้ราว 40-60 ล้านคน และใช้ระบบ Cloud 100% ซึ่งเป็นผลจากการตามหลังคู่แข่งอยู่ 5 ปี
ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเพียงหนึ่งเดียว
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นกระแส และได้รับการพูดถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ การที่ธนาคารกรุงไทยหลุดพ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจ จากการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผยง เล่าว่า ธนาคารกรุงไทยแม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง แต่สาระสำคัญไม่ได้มีความแตกต่าง ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเช่นเดิม
โดย ผยง อธิบายว่าการทำงานต่างๆ ของธนาคารกรุงไทยยังคงเหมือนเดิม เพราะปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารกรุงไทย คือ กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 55.07% มานานกว่า 30 ปี ดังนั้นพื้นฐานของธนาคารกรุงไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ DNA ของธนาคารกรุงไทย คือการแข่งขันกับพาณิชย์รายใหญ่อื่นๆ มาตลอดเวลา ต้องตอบโจทย์ทั้งการแข่งขัน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลายเป็นจุดแข็งที่สมดุล
5 กลยุทธ์เสาหลักการทำธุรกิจในอนาคตของกรุงไทย
แน่นอนว่าธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่มี DNA การแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่น จำเป็นที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ที่นับว่าเป็น เสาหลัก สำคัญที่จะพาธนาคารกรุงไทยไปสู่อนาคตข้างหน้า ซึ่งผยง เล่าว่ามีด้วยกัน 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
-
- การประคับประคองธุรกิจเดิม ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ ประคับประคองลูกหนี้ NPL ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
- สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล รวมถึงเปลี่ยนบริการให้เป็นการขาย
- ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (Paperless) นำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการทำงาน เช่น กระบวนการพิจารณาสินเชื่อจะไม่ใช้กระดาษเลย
- ทำธุรกิจแบบ X2G2X โดยที่ X จะเป็นคู่ค้า
- ยึดหลักแนวคิด “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” Upskill Reskill ปรับรูปแบบการทำงานให้ตอบโจทย์กับชุมชน นำสู่ความยั่งยืนของธนาคารกรุงไทย
ผยง ยังยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการปลดพนักงานของธนาคารออก เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่จะเน้นการ Reskill และ Upskill ของพนักงาน ให้พนักงานสามารถทำงานอย่างอื่น และย้ายสถานที่การทำงานได้
นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการทำงานของธนาคารกรุงไทย และการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ยังเห็นได้จากการที่ธนาคารกรุงไทย ประกาศเปิดตัว อินฟินิธัส บาย กรุงไทย เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและต่อยอดไปนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านแนวคิดในเรื่อง Open Ecosystem และช่วยธุรกิจรายเล็กให้อยู่รอดได้ ไปก่อนหน้านี้
- KTB เปิดตัว อินฟินิธัส บาย กรุงไทย เน้นแนวคิดเรื่อง Open Ecosystem และช่วยธุรกิจรายเล็กให้อยู่รอดได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา