ปี 2566 นี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโต แต่ในอัตราที่ชะลอลงมาก ล่าสุด ศูนย์วิจัยกรุงศรี จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ออกมาปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP ปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมคาด 3.3% เมื่อต้นปี สาเหตุเนื่องจากภาคส่งออก การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่อ่อนแอกว่าคาด
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยบวกเพียง ภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศที่ปรับดีขึ้นเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาส 3 ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดือน ก.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 2.5 ล้านคน สูงสูดนับตั้งแต่ COVID-19 คลี่คลายลง และมีปัจจัยบวกจากช่วงวันหยุดยาว ช่วยหนุนการบริโภคในหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นซึ่งช่วยหนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือน
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว จากหมวดก่อสร้างเป็นหลัก แต่กลับพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวคาดเติบโต 3.4% จาก 2.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีแรงหนุนหลัก 3 ด้าน ได้แก่
- ภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น
- การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่คาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลระบุว่าเตรียมลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน รวมถึงโครงการพักหนี้เกษตรกร
- ผลจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว (เนื่องจากจีนมีมาตรการล็อคดาวน์ในไตรมาส 4/2565 กระทบต่ออุปสงค์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก) ช่วยให้ในเชิงตัวเลขเห็นการเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY)
แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงอีกหลายด้านทั้งการส่งออกที่อ่อนแอ การจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้ง และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น (บนฐานหนี้ครัวเรือนที่สูง) อาจเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำให้วิจัยกรุงศรีปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่
- ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2566 ลดลงสู่ระดับ 2.8% (เดิมที่ 3.3%)
- คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้จะที่ 2.25% ในช่วงที่เหลือของปีนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (เป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี)
- ปรับลดคาดการณ์ส่งออกเป็นหดตัว 1.5% (เดิมที่เติบโต 0.5%)
- การลงทุนภาคเอกชนลดเหลือ 2.0% (จากเดิม 2.7%)
ที่มา – ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
อ่านเพิ่มเติม
- ซีไอเอ็มบี ไทย หั่น GDP ปี 66-67 ผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และ 5 ความเสี่ยงขาล
- แบงก์หั่นคาดการณ์ GDP ปี 66 มองส่งออกหดตัวเพิ่ม-ลุ้นการจัดตั้งรัฐบาล
- สภาพัฒน์ หั่นเป้า GDP ไทยปี 66 เหลือ 2.5-3.0% จาก 3 ปัจจัยหลัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา