เกือบครบทุกธนาคาร! กรุงศรี-เกียรตินาคิน-LH Bank ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมช่องทางดิจิทัลแล้ว

หลังธนาคารไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, กรุงไทย และกรุงเทพ ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมบริการต่างๆ ที่วิ่งผ่านช่องทางดิจิทัลไป ตอนนี้ก็มีอีก 3 ธนาคารที่โดดเข้ามาร่วมวง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ของธุรกรรมดิจิทัลไปด้วยกัน

ธนาคารกรุงศรีฟรีค่าธรรมเนียม

กรุงศรีจัดให้! พร้อมเกทับด้วย Cashback

เรียกว่ายอมกันไม่ได้จริงๆ สำหรับการแข่งขันฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมดิจิทัลของแต่ละธนาคารในตอนนี้ หลังล่าสุด “ธนาคารกรุงศรี” ก็โดดเข้ามาร่วมวงนี้ด้วยการฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ บนธุรกิจดิจิทัลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป้นการโอนเงินข้ามเขต และข้ามธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัลที่ประกอบด้วย KMA (Krungsri Mobile Application) และ KOL (Krungsri Online) รวมถึงตู้ ATM ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังสามารถชำระบิลสินค้า และบริการทุกช่องทางดิจิทัล และ ATM รวมถึงสาขาธนาคารได้แบบฟรีค่าธรรมเนียมอีกด้วย ส่วนเรื่องกดเงินจากตู้ ATM ทุกตู้ ทุกธนาคารทั่วประเทศก็ฟรีเช่นกัน แต่ที่แตกต่างจากธนาคารอื่นคือ หากชำระบิลผ่านช่องทาง KMA และ KOL ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จะได้รับเงินคืน 5 บาท/บิล เป็นเวลา 6 เดือน (สูงสุด 30 บาท/เดือน)

ธนาคารเกียรตินาคินฟรีค่าธรรมเนียม

เกียรตินาคิน-LH Bank ก็ตามน้ำเพื่อดึงลูกค้า

ขณะเดียวกันธนาคารทางเลือกอย่าง “เกียรตินาคิน” ก็ตามน้ำด้วยการฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมช่องทางดิจิทัลที่ประกอบด้วย KK e-Banking ทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น รวมถึง KK e-Banking @PhatraEdge โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เป็นต้นไป ทำให้การโอนเงินต่างธนาคาร การโอนเงินข้ามเขตภายในธนาคาร การชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงบริการเรียกเก็บเงินแบบไม่มีกำหนดจากที่เคยมีค่าธรรมเนียม ก็ไม่มีแล้ว

นอกจากนี้ LH Bank หรือธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก็ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมช่องทางดิจิทัลเช่นกัน ทำให้ LH Bank M Choice (แอปพลิเคชั่นบนมือถือ) และ LH Bank Speedy (อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง) สามารถโอนเงินข้ามเขต, โอนเงินต่างบัญชีธนาคาร, ชำระสินค้า และบริการ รวมถึงโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ฟรีแบบไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. นี้

LH Bank ฟรีค่าธรรมเนียม

เรียกว่าสมรภูมินี้คงไม่จบลงง่ายๆ แน่ เพราะยังเหลือธนาคารอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมดิจิทัล ยิ่งหากเป็นกลุ่มธนาคารทางเลือก การไม่มีตัวนี้เข้ามาดึงดูดลูกค้าเอาไว้ก็ยิ่งยาก ดังนั้นต้องคอยจับตาดูว่าธนาคารที่เหลือจะยอมเจียดรายได้ที่หายไปส่วนหนึ่ง เพื่อตามกระแสฟรีค่าธรรมเนียมนี้หรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา