“กรุงศรีฯ” ยืนยันไม่ลดพนักงาน-สาขา แต่เตรียมติดเครื่องขึ้นผู้นำด้านดิจิทัลด้วยนวัตกรรมล้ำๆ

กระแสปรับลดบุคลากรเริ่มไหลเข้ามาในไทยเรื่อยๆ สังเกตจากไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีองค์กรขนาดใหญ่ประกาศแผนปรับลดพนักงานชัดเจน แต่แล้วทำไมธนาคาร “กรุงศรี” ที่มีพนักงานเกือบ 29,000 คน ถึงไม่มีแผนปรับลดล่ะ

พนักงานธนาคารกรุงศรี // ภาพจาก Facebook ของ Krungsri Simple

เชื่อมั่นในคุณภาพ เสริมแกร่งด้วยดิจิทัล

ในสิ้นปี 2560 พนักงานของธนาคารกรุงศรี หรือบมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีทั้งหมด 28,971 คน แถมจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2,000 คน ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าปี 2561 ก็ยังมีแผนจัดจ้างพนักงานมารองรับส่วนงานต่างๆ มากขึ้นอีก เพราะตัวธนาคารยังไม่มีแผนปรับลดพนักงานออกมาแต่อย่างใด

โนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรี ยอมรับว่า แม้จะนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้กับบริการทางการเงินในส่วนต่างๆ บ้างแล้ว แต่ “คน” ยังเป็นทรัพยากรณ์สำคัญของบริษัท เพราะสามารถสร้างประโยชน์ (Prductivity) ในบางเรื่องที่ดิจิทัลยังทำไม่ได้ในตอนนี้

โนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
โนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรี

“กรุงศรียังไม่มีแผนลดต้นทุนในเรื่องคน แต่ยังลงทุนในเรื่องนี้อยู่ตลอด ทั้งการจัดจ้าง และการเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้พวกเขาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการขับเคลื่อนธนาคารไปสู่ผู้นำด้านดิจิทัล และนวัตกรรมได้ ในทางกลับกันพนักงานบางส่วนอาจถูกทดแทนด้วยดิจิทัล เราก็จะย้ายพวกเขาไปทำงานในส่วนอื่นๆ แทน”

เรื่องสาขาก็ไม่ลด แต่ปรับตามสมัยนิยม

ขณะเดียวกันในฝั่งสาขาที่สิ้นปี 2560 ธนาคารกรุงศรีมีทั้งหมด 702 สาขา ก็ไม่มีแผนปรับลดเช่นกัน เพราะยังเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้ใช้บริการ แต่คงไม่เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยเหมือนหลายสิบปีก่อน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นแค่หลักสิบสาขาเท่านั้น ซึ่งปี 2561 ก็น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน

จำนวนสาขา และจำนวนพนักงานของธนาคารกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
จำนวนสาขา และจำนวนพนักงานของธนาคารกรุงศรี // ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงศรี

“การทำตลาดผ่านช่องทางสาขาของธนาคารกรุงศรียังมีความสำคัญอยู่ แต่รูปแบบของแต่ละสาขาอาจต้องเปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อเป็นธนาคารแบบใหม่ ตามกระแสที่ผู้บริโภคเริ่มทำธุรกรรมต่างๆ ผ่าน Smartphone เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราว 10% ของสาขาทั้งหมดจะเริ่มทยอยเปลี่ยนเป็นสาขาที่ Automate ทั้งหมด”

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งระบบ Automation และ Data Analytics เป็นการทำเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่อง E-Payment ในแง่มุมต่างๆ นอกจากนี้ทางธนาคารยังเดินเครื่อง Digital Transformation เต็มตัว ผ่านการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ในองค์กร และลงทุนกับ Fin Tech ต่อเนื่อง

กางแผนระยะกลางอันใหม่ หวังโตยั่งยืน

หลังจากกลุ่ม MUFG จากญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงศรีในปลายปี 2556 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องกลยุทธ์ และแผนธุรกิจมากมาย แต่การเปลี่ยนครั้งนี้ก็ทำให้ธนาคารยังเติบโตแม้สภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยหลังจากนั้นจะไม่ค่อยสู้ดีนัก

โดยระหว่างปี 2558-2560 ทางธนาคารสามารถมีสินทรัพย์สูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดำเนินกิจการมา หลักๆ ได้มากจากความแข็งแกร่งของสินเชื่อรายย่อย, ยานยนต์ รวมถึงที่พักอาศัย นอกจากนี้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปิดที่ 31,940 ล้านบาท ที่สำคัญยังลดต้นทุนทางการเงินเหลือ 1.6% เท่านั้น

เป้าหมายทางการเงินปี 2561 ของธนาคารกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เป้าหมายทางการเงินปี 2561 ของธนาคารกรุงศรี

สำหรับแผนระยะกลางฉบับใหม่ที่ใช้ในปี 2561-2563 จะเน้นที่การขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital First, ยกระดับประสบการณ์ใช้งานให้ผู้บริโภคเลือกใช้ธนาคารกรุงศรีเป็นธนาคารหลัก และเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยให้ลูกค้ารายย่อย และธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สรุป

แม้ธนาคารคู่แข่งจะประกาศแผนลดคน และสาขาไปก่อนหน้านี้แล้ว (แต่คงไม่ได้เตี๊ยมกับพนักงาน) ธนาคารกรุงศรีที่มีความโดดเด่นในเรื่องบริการสินเชื่อ โดยเฉพาะกับบัตรเครดิต และรถยนต์ ก็คงไม่ได้ลดคนง่ายๆ ในเวลาอันสั้น เพราะเชื่อว่าถึงจะมีเครื่องมือมาช่วยวิเคราะห์สินเชื่อ แต่คนก็ยังมีส่วนในการตัดสินใจสุดท้ายว่าจะปล่อยหรือไม่ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือมีเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาช่วยวิเคราะห์ให้แม่นยำยิ่งกว่าเดิม เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา