ช้อปออนไลน์-ฟู้ดเดลิเวอรี่ เติบโตสูง ดันยอดใช้ผ่านบัตรเครดิดกรุงศรีฯ 9 เดือนแตะ 1.99 แสนล้านบาท

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตต่อเนื่อง ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรแตะ 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท ชี้ยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เติบโตสูง หมวดใช้จ่ายสินค้าจำเป็นเติบโตเล็กน้อย หมวดท่องเที่ยวและร้านอาหารยังไม่ฟื้นตัว เผยพร้อมปรับตัวรับสภาวะการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป ชูดิจิทัล นวัตกรรม ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า พร้อมผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือและพันธมิตร เพิ่มโอกาสทางการตลาด ควบคู่การดูแลคุณภาพสินเชื่อและช่วยเหลือลูกค้า คาดธุรกิจจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรแตะ 285,000 ล้านบาท เติบโต 3% ภายในสิ้นปี 2564  

krungsri consumer

ภาพรวมปลายปีฟื้นตัวรับเปิดประเทศ-เทศกาลจับจ่าย

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิต โลตัส วีซ่า กล่าวว่า  ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นเทศกาลจับจ่ายส่งท้ายปี ที่ปกติจะมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยนโยบายคลายล็อคดาวน์ รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม

ขณะที่ ตลาดสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายนี้ ก็มีแนวโน้มขยายตัว โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วง โควิด-19 รวมทั้งต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ

krungsri consumer

ช้อปปิ้งออนไลน์มาแรง แนะธุรกิจเร่งปรับตัว

สำหรับธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์เอง ผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคมกันยายน 2564 เติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท โดยหมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+62%), 2.ประกันภัย (+15%) , 3.ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%), 4.ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+7%), และ 5. ร้านสะดวกซื้อ (+6%)

แนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตร ข้อมูลจากสายงานยุทธศาสตร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือของบริษัท ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว โดยยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี่ ประกันภัยออนไลน์ เติบโตสูง

ขณะที่ หมวดใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ของใช้ในบ้าน ยาและสุขภาพ ยังคงมียอดใช้จ่ายต่อเนื่อง ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังคลายล็อคดาวน์ ในยอดใช้จ่ายโดยการจองตรงกับโรงแรมในบางจังหวัดท่องเที่ยว

krungsri consumer

เปิดบริการใหม่ต่อเนื่อง หวังโดนใจผู้ใช้

บริษัทจึงมุ่งเน้นการนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล; พัฒนาบริการใหม่ๆ ในแอป UCHOOSE เช่น  U Cash บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอปโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์,  UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอป, UMall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท; การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook; การออกผลิตภัณฑ์ใหม่  เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัลที่มอบเครดิตเงินคืน 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์; บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียงบริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger เป็นต้น

นอกจากนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังจะผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ปและพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และการดูแลช่วยเหลือลูกค้าและพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทคาดว่า ในปี 2564 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 285,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 76,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาทนางสาวณญาณีกล่าวสรุป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา