กรุงศรี ฟินโนเวต ปั้นกองทุนสตาร์ตอัปเพิ่ม มูลค่าลงทุน 1,300 ล้านบาท ลงใน Seed ถึง Pre-Series A

วงการสตาร์ตอัปในประเทศไทยเตรียมกลับมาคึกคักอีกรอบ เพราะ กรุงศรี ฟินโนเวต หน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนของธนาคารกรุงศรี ประกาศความร่วมมือกับ อีฟราสตรัคเจอร์ เพื่อจัดตั้งกองทุนมูลค่ารวม 1,300 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัประดับ Seed ถึง Pre-Series A ที่กำลังประสบปัญหาระดมทุน ตลอดช่วงเวลา 4 ปี หลังจากนี้

FinnoEfra

Seed และ Pre-Series A โตลำบาก

นับตั้งแต่การหายไปของ dtac Accelerate เมื่อปี 2019 ประกอบกับโรคโควิด-19 ระบาด และภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ทำให้การลงทุนในสตาร์ตอัปช่วงนี้ไม่คึกคักเหมือนในอดีต ยิ่งสตาร์ตอัปที่เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่าง ๆ ประสบปัญหาหุ้นตก ก็เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าอย่าเพิ่งไปลงทุนในสตาร์ตอัปดีกว่า

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด หน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนของธนาคารกรุงศรี เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในกลุ่ม Seed จนถึง Pre-Series A เพราะต้องการความมั่นใจจริง ๆ เกี่ยวกับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัปเหล่านั้น

“Seed และ Pre-Series A ได้รับเงินลงทุนจาก Angel มาแล้ว แต่พวกเขาสเกลขึ้นไปได้ลำบากเพราะไม่สามารถดึงเงินจากนักลงทุนมาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มี 500 Tuktuks ที่ลงรอบนี้ให้ แต่ปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว หันไปลงระดับ Series A อย่างเดียว หากประเทศไทยอยากให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ เหมือนโครงการที่ทำในอดีต การใส่ใจตรงนี้ก็จำเป็น”

FinnoEfra
แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด หน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนของธนาคารกรุงศรี

แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยกองทุน FinnoEfra

เพื่อแก้ปัญหา และเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัประดับ Seed และ Pre-Series A ได้เงินลงทุนเพื่อการเติบโตได้ กรุงศรี ฟินโนเวต จึงร่วมมือกับ อีฟราสตรัคเจอร์ เพื่อจัดตั้งกองทุน Finno Efra ที่เน้นลงทุนในสตาร์ตอัปทั้งในไทย และอาเซียน (สัดส่วนไทย 60% อาเซียน 40%) ในระดับ Seed และ Pre-Series A โดยเฉพาะ

กองทุนดังกล่าวมีมูลค่าราว 1,300 ล้านบาท ใช้เวลาลงทุน 4 ปี เพื่อลงทุนใน 50 สตาร์ตอัปที่น่าสนใจ โดยดีลการลงทุนจะมีมูลค่า 8-40 ล้านบาท/ราย ส่วนมูลค่าเงิน 1,300 ล้านบาท จะมาจากการลงทุนโดย กรุงศรี ฟินโนเวต 200 ล้านบาท ที่เหลือมาจากผู้สนใจทั่วไปที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนนี้ และกลุ่มลูกค้าองค์กรของธนาคารกรุงศรี

ทั้งนี้ บลจ. วรรณ จะเป็นผู้นำเสนอขายกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในกองทุน Finno Efra โดยลูกค้าที่ซื้อจะเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ UI ลงทุนขั้นต่ำเริ่มต้น 5 แสนบาท ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยได้เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัปได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ลงทุนได้เฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ UHNW

FinnoEfra

หวังรีเทิร์นดีเหมือนกับกองทุนฟินโนเวต

แซม ตันสกุล หวังว่า ผลตอบแทนจากการลงทุน FinnoEfra ในกลุ่มสตาร์ตอัประดับ Seed และ Pre-Series A จะทำได้ดีเหมือนกับที่ทางกลุ่มลงทุนมาก่อนหน้านี้ที่เน้นลงทุนในระดับ Series A เป็นหลัก ผ่านผลตอบแทน IRR 15% ต่อปี และทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เพิ่มขึ้น 110%

“เราหวังว่า FinnoEfra จะได้ IRR ที่ 20% ขึ้นไปต่อปี เพราะการลงทุนมันเสี่ยงกว่า ส่วนโอกาสรอดของสตาร์ตอัปที่เราเข้าไปลงทุนก็คิดว่ามีมากกว่า 30% จากจำนวนทั้งหมด ซึ่งเราอยากปั้นศักยภาพให้สตาร์ตอัปมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และถ้าเราไม่ลงแล้วใครจะลง”

กรุงศรี ฟินโนเวต มีการลงทุนในสตาร์ตอัปชั้นนำ เช่น Buzzebees, Klook, Ascend Money, OPN และ Finnomina เป็นต้น โดยจะเน้นหนักไปที่กลุ่ม FinTech ล้อไปกับธุรกิจธนาคาร และการเงินของกรุงศรี ส่วน FinnoEfra จะเพิ่มกลุ่ม MarTech และ HRTech เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนในสตาร์ตอัปได้มากขึ้น

FinnoEfra

เพิ่ม Accelerator Program ลดความเสี่ยง

ขณะเดียวกัน FinnoEfra ยังจัดทำ Finno Efra Accelerator Program หรือโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัปเพื่อดึงสตาร์ตอัปที่สนใจให้ กรุงศรี ฟินโนเวต เป็นผู้ลงทุน โดยโครงการดังกล่าวจะรวมเมนเทอร์จากธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้

“การทำแบบนี้ช่วยเพิ่มการันตีว่าสตาร์ตอัปที่เราเข้าไปลงทุนจะไม่ล้มง่าย ๆ เพราะพวกเขาถูกคนเก่งสอนการทำธุรกิจมาก่อนแล้ว ซึ่งครั้งนี้เรียกว่ามีคนทำสตาร์ตอัปเข้ามาช่วยสอนมากที่สุดตั้งแต่กระแสสตาร์ตอัปหายไปก็ว่าได้” แซม ตันสกุล ย้ำ

FinnoEfra Accelerator Program จะใช้เวลาประมาณสี่เดือน โดยในแต่ละรอบจะเปิดรับสตาร์ตอัปประมาณ 10 บริษัท และสตาร์ตอัปที่เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนี้จะมีโอกาสได้รับเงินลงทุนจากกอง FinnoEfra และพบกับนักลงทุนรายอื่น ๆ ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา