Work from Home มีทั้งบวกและลบ มีเวลามากขึ้นแต่ประสิทธิภาพลดลง

  • การทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) รวมทั้งการสลับระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศกับที่บ้าน (Hybrid WFH) จะเป็นรูปแบบการทำงานในอนาคตของหลายองค์กร แม้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า WFH และการทำงานที่ออฟฟิศ มีทั้งด้านบวกและด้านลบที่แตกต่างกันไป ซึ่งในที่สุดแล้ว องค์กรต่างๆ ทั้งพนักงานและบริษัท คงต้องหาแนวทางหรือจุดลงตัวร่วมกันเพื่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย 

K Research

โควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆ ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในระดับสูง ล่าสุดกับการล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้หลายบริษัทยังคงรูปแบบการทำงาน WFH ต่อไป

จากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า พนักงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล กว่า 52.7% ยังทำงาน ณ ที่พักเต็มรูปแบบหรือ WFH 100% ขณะที่ประมาณ 30.6% มีรูปแบบการทำงานที่ออฟฟิศ 2-3 วันต่อสัปดาห์สลับกับการทำงานในที่พัก หรือ Hybrid WFH

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ตัวอย่างประมาณ 16.7% ยังต้องไปทำงานที่ออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานไม่เหมาะที่จะ WFH ได้ เช่น งานทางด้านบัญชี งานที่ต้องลงนามในเอกสารสำคัญต่างๆ เป็นต้น รวมถึงบางบริษัทไม่มีความพร้อมในระบบไอทีและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานให้สามารถทำงานที่บ้านได้

K Research

WFH ไม่ตอบโจทย์ประสิทธิภาพการทำงาน

WFH ไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศที่ก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งในระยะเริ่มแรกของการทำงานที่บ้าน นับเป็นสิ่งแปลกใหม่ของวิถีการทำงานในยุค New Normal และเป็นสิ่งที่พนักงานหลายคนรอคอยกับการที่ไม่ต้องตื่นแต่เช้า แต่งตัวและฟันฝ่าการจราจรที่ติดขัดไปทำงาน การทำงานที่บ้านหรือที่ไหนๆ นั้น สามารถทำได้เพียงแค่มีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมอินเทอร์เน็ตก็พอ

สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ในด้านบวกนั้น กลุ่มตัวอย่างมองว่าการทำงานที่บ้านช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีเวลาอยู่กับครอบครัว สามารถบริหารเวลาระหว่างชีวิตประจำวันกับการทำงาน (Work Life Balance) ได้ การทำงานมีประสิทธิภาพเนื่องจากไม่ต้องประชุมตลอดเวลา สุขภาพดีขึ้น และมีความยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน

K Research

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งของการทำงานที่บ้าน ก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ต้อง WFH มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่า การทำงานที่บ้านมีอุปสรรคในมิติต่างๆ ที่สำคัญคือ อุปสรรคด้านการทำงาน (59% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) เนื่องจากไม่มีความคล่องตัวเหมือนกับการทำงานที่ออฟฟิศ ทั้งปัญหาด้านอุปกรณ์การทำงานและระบบไอที ปัญหาการสื่อสารระหว่างลูกทีมและหัวหน้า การติดต่อสื่อสารนอกเวลางานที่มากขึ้น การติดต่อประสานงานระหว่างหลายทีมมีความยากลำบาก การรับรู้นโยบายของบริษัทและงานระหว่างทีมงานมีน้อยลง และปัญหาในเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน

ตามมาด้วย ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น (58.4% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ อุปสรรคการทำงานที่บ้านอื่นๆ อาทิ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่เหมาะกับการทำงาน เช่น มีเสียงดัง จำนวนผู้อยู่อาศัยรวมกันจำนวนมาก ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน ปัญหาสุขภาพจากพื้นที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม การทำงานที่บ้านต้องมีการควบคุมพฤติกกรรมตนเองที่สูงและต้องใช้สมาธิอย่างมากในการทำงาน และต้องบริหารจัดการความสมดุลของเวลางานและการดูแลบุตรหลาน

ทำงานอย่างไรให้ชีวิตสดใส การงานดีขึ้น

รูปแบบการทำงานเป็นสิ่งที่พนักงานและองค์กรยังต้องหาคำตอบที่เหมาะสม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทำงานที่บ้านยังมีอุปสรรคท้าทายสำหรับพนักงานและบริษัทที่ต้องแก้ปัญหาด้วยแนวทางและเครื่องมือที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความพร้อมด้านระบบงานไอทีและอุปกรณ์ที่สอดรับกับลักษณะงาน การปรับสวัสดิการและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานที่บ้านกับการทำงานที่ออฟฟิศ เป็นต้น    

ผลสำรวจ พบว่า พนักงานต้องการการสนับสนุนจากองค์กรในด้านสวัสดิการค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต/ค่าโทรศัพท์ (60.2%) เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ สิ่งที่พนักงานต้องการการสนับสนุนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไอทีและอุปกรณ์ในการทำงาน (48.9%) เช่น โน๊ตบุค ระบบข้อมูล หรือแม้กระทั่งความช่วยเหลือด้านเทคนิคเมื่อเกิดปัญหาขึ้น 

K Research

และเป็นที่น่าสนใจว่า มุมมองของพนักงานต่อการ WFH หรือ Work From Anywhere ต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานนั้น กลุ่มตัวอย่าง มองว่า การทำงานที่บ้านทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลง (60.0%) มีความเสี่ยงต่อการลดลงของเงินเดือนและสวัสดิการ (57.6%) มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานลดลง (18.3%) และมองว่างานไม่มีความท้าทาย (14.7%)

ท้ายสุดแต่สำคัญที่สุด การที่ทีมงานในที่ทำงานอยู่ต่างที่กันเป็นสิ่งท้าทายสำหรับองค์กรที่คงจะต้องออกแบบการบริหารจัดการภายในเพื่อทำให้พนักงานทุกคนยังมีความรู้สึกมีส่วนร่วม ไม่ถูกโดดเดี่ยว การออกแบบการโปรโมทพนักงาน สวัสดิการ เพื่อให้พนักงานมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ การสร้างทีมทำงานที่แข็งแกร่ง และการวัดประสิทธิภาพหรือ KPI ที่ชัดเจน เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถเก็บพนักงานที่มีคุณค่าไว้กับองค์กรต่อไป ซึ่งหัวใจสำคัญคงจะอยู่ที่การสื่อสารสองทางอย่างสร้างสรรค์ในพนักงานทุกๆ ระดับ ให้เกิดความเชื่อมั่นและร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา