ผลคลายล็อก-เปิดประเทศ-วัคซีนเร็วเกินคาด KResearch ปรับคาด GDP ปี 64 ขึ้นเป็นโต 0.2%

KResearch ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นโต 0.2%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นกว่าเดิม ปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นเติบโต 0.2% จากที่เคยคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัว -0.5%

พราะมองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจกลับมาคึกคักขึ้น เห็นได้ชัดจากการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นเป็น 1.8 แสนคน (จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้เล็กน้อยที่ 1.5 แสนคน) โดยมีปัจจัยสำคัญที่ผลักดัน คือ

  • มาตรการคลายล็อกดาวน์
  • มาตรการเปิดประเทศ
  • การกระจายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นกว่าที่คาดไว้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ส่วนปี 2565 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า เศรษฐกิจไทยจะโตที่ 3.7% จากปัจจัยจากความครอบคลุมของประชากรที่จะได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลง และการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก 

ais 5g

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์

ปรับประมาณการขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบจำกัด

สังเกตุได้ว่าแม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในกรอบจำกัด เพราะไทยยังต้องเผชิญกดดันปัจจัยหลายประการ ทั้งน้ำท่วม ภาระการครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก และความเสี่ยงด้านการระบาดหลังเปิดประเทศ

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เพิ่มเติมประเด็นผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมองว่าผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะอยู่ภายในปี 2564 โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2564 คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งภาคเกษตร ซึ่งน่าจะกระทบทั้งหมดประมาณ 6-7 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตร 

ที่สำคัญ ภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงในกว่า 30 จังหวัด ดังนั้น โดยรวมแล้ว คาดว่ากระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.16% ของจีดีพี น้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2551, 2553 และ 2560 ที่ผ่านมา และได้รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการจีดีพีปี 2564 แล้ว

สำหรับผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงต่อธุรกิจในปี 2564 นางสาวเกวลิน มองว่า ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปีนี้ อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาทต่อลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1% 

แต่ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ โน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ก็ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อในปีหน้าด้วย

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา