เด็กไทยเกิดน้อย จนโรงเรียนรัฐ-โรงเรียนเอกชนทยอยปิด แต่โรงเรียนนานาชาติกลับโตพุ่ง เพราะพ่อแม่กำลังจ่ายสูงเพิ่ม-ชอบหลักสูตรนานาชาติมากกว่า

มีเรื่องชวนให้แปลกใจมาเล่าให้ทุกคนฟัง เรื่องคือรายงานล่าสุดจาก KResearch คาดว่าในปีนี้ ‘โรงเรียนนานาชาติ’ ในประเทศไทยจะโต 13% และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ทั้งๆ ที่ตอนนี้เด็กไทยเกิดน้อยลง นักเรียนไทยก็น้อยลง จนโรงเรียนรัฐและเอกชนต้องทยอยปิดตัว คำถามคือ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? Brand Inside จะลองพาทุกคนไปดูกัน

นักเรียนไทยลด เพราะเด็กไทยเกิดน้อย

อย่างแรกที่เราต้องรู้ก่อน คือ โครงสร้างกิจการโรงเรียนไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เอกชน และรัฐบาล

โดยเรียนรัฐบาลก็อย่างที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี คือ เป็นโรงเรียนของรัฐบาลที่จะสอนในหลักสูตรไทยตามกำหนดของรัฐ ขณะที่กลุ่มเอกชนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ โรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทย กับ โรงเรียนนานาชาติ

ที่ผ่านมา ‘นักเรียนในไทย’ ลดลงต่อเนื่องมาตลอด 10 กว่าปี (2555-2567) เพราะเด็กไทยเกิดน้อยลง โดยข้อมูลจาก KResearch บอกว่า จำนวนนักเรียนไทยในภาพรวมลดลงประมาณ​ 0.9% ตาม ‘สถิติการเกิด’ ที่ลดลงเฉลี่ยกว่า 4.5% แต่ขณะเดียวกันนั้น จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% ต่อปีมาโดยตลอด

อย่างเฉพาะในปีการศึกษา 2567 นี้จำนวนนักเรียนไทยในภาพรวมก็ลดลง 1.7% จากปีก่อนหน้า แต่จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้นถึง 10.2%

สะท้อนภาพจำนวนนักเรียนไทยลด
แต่จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติเพิ่ม

โรงเรียนรัฐ-เอกชนหลักสูตรไทยทยอยปิด แต่นานาชาติโตต่อเนื่อง

มาที่ ‘จำนวนโรงเรียน’ กันบ้าง ที่ผ่านมา

ในปีการศึกษา 2567 มีจำนวนโรงเรียนลดลงจากปีการศึกษาก่อนหน้ามากถึง 6.6% หรือหายไปกว่า 2,355 โรงเรียน ตอนนี้เราจึงเหลือโรงเรียนอยู่เพียง 33,098 โรงเรียนเท่านั้น

สาเหตุก็เพราะจำนวนนักเรียนในภาพรวมที่น้อยลงๆ มาตลอดสิบปีที่ทำให้โรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยต้องทยอยปิดตัวลงไปนั่นเอง

สถิติการเพิ่มขึ้น-ลดลงของโรงเรียนในหลักสูตรต่างๆ
– โรงเรียนรัฐบาล ลดลงเฉลี่ย 0.6% ต่อปี
– โรงเรียนเอกชน ลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี
– โรงเรียนนานาชาติ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมเด็กไทยเกิดน้อย จำนวนนักเรียนภาพรวมก็น้อย โรงเรียนรัฐและเอกชนทยอยปิด แต่โรงเรียนนานาชาติกลับเติบโต คือ

1. ความนิยมหลักสูตรต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะหลักสูตรทันสมัย เปลี่ยนแปลงเสมอ เมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย ทำให้พ่อแม่หลายๆ คนนิยมหลักสูตรนานาชาติมากกว่า

2. พ่อแม่ที่มีกำลังจะส่งลูกเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์ที่บอกว่า ประเทศไทยจะมีคนที่จะมีทรัพย์สินมากกว่า 36 ล้านบาท (1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 24% ในช่วง 6 ปีนี้

3. ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานตำแหน่งบริหารในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่พาบุตรหลานมาเล่าเรียนในไทยด้วย

กรุงเทพแข่งขันสูง บุกหัวเมืองใหญ่ตลาดใหม่

นอกจากนั้น KResearch ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้โรงเรียนนานาชาติกำลังค่อยๆ ขยายออกจากกรุงเทพมากขึ้น ดูได้จากอัตราการเติบโตที่สูงกว่าในกรุงเทพแล้ว

นั่นก็เพราะการแข่งขันที่สูงมากในกรุงเทพฯ ทำให้โรงเรียนนานาชาติพยายามหาตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ หรือระยอง

โดยเฉพาะตลาดภาคกลางกับภาคตะวันออก ที่ตอนนี้มีครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน มากกว่า 1 แสนครัวเรือนแล้ว เป็นรองเพียงกรุงเทพฯ​ เท่านั้น

แต่เพราะยังไงก็มีจำนวนครัวเรือนรายได้สูงน้อยกว่าในกรุงเทพ หลายๆ โรงเรียนก็อาจจะปรับลดค่าเรียนให้เหมาะกับรายได้ผู้ปกครอง

จึงไม่แปลกที่ในปีนี้โรงเรียนนานาชาติจะมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น 10.2% และด้วยค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้นถึง 3.8% มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติจึงจะเติบโตถึง 13% และจะสูงถึง 8.7 หมื่นล้านบาทในปีนี้

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา