จับตาดู “กระท่อม” จะไปได้ไกลแค่ไหนหลังรัฐไทยปลดล็อก? ตอนนี้ในต่างประเทศมีการบริโภคกระท่อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ทำเป็น ชา อาหารเสริม ไปจนถึงยาดม แต่ก็ยังมีประเทศส่งออกไม่มาก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พืชกระท่อม ถูกถอดออกจากเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หลังจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564 ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์พระราชกิจจานุเบกษา จากที่ก่อนหน้านี้ กระท่อม เคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ร่วมกับกัญชา
นี่คือโอกาสสำคัญของ กระท่อม ในฐานะพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ เพราะกระท่อมคือพืชที่ถูกปลูกและบริโภคกันตามวิถีชาวบ้านอย่างแพร่หลายในภาคใต้อยู่แล้ว เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส เพื่อบำรุงกำลัง โดยมักนิยมกินก่อนไปทำงานที่ต้องใช้แรงอย่างหนัก
ดังนั้น การปลดล็อกกระท่อมจะเป็นการเปิดประตูในการผลิต จำหน่าย และต่อยอดองค์ความรู้ตามวิถีพื้นบ้านในการผลักดันให้เกิดสินค้าจากพืชกระท่อมชนิดใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เนื่องจาก กระท่อม มีสรรพคุณทางยาหลายอย่างจึงมีความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
ใบกระท่อมและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
- นำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง ปวดมวนท้อง
- บางพื้นที่ระบุว่าสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ระงับอาการปวด ทำให้นอนหลับ ระงับประสาท
- ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้
กระท่อม กับโอกาสที่เปิดกว้างในตลาดต่างประเทศ
จริงๆ แล้ว พืชกระท่อมไม่ได้เป็นถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในหลายๆ ประเทศ และที่สำคัญองค์การการสหประชาชาติ (UN) ก็ไม่ได้ระบุชื่อของ กระท่อม ไว้ในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972
นั่นหมายความว่า หลังจากนี้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะส่งออก กระท่อม สู่ตลาดระดับโลกในหลายประเทศในฐานะพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาสูง
โอกาสอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อพิจาณาบริบทโลกการส่งออกพืชกระท่อมในระดับโลกยังมีอยู่อย่างจำกัด เพราะแม้กระท่อมจะเป็นพืชท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่สามารถส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ตอนนี้การส่งออกกระท่อม 90%-95% เป็นของอินโดนีเซีย
ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยังทำได้อย่างจำกัด
- มาเลเซีย ห้ามส่งออกใบกระท่อม (มีเพียงบางฟาร์มที่ส่งออกใบไม่แปรรูป แต่ก็มีปริมาณจำกัด)
- ไทย ส่งออกได้เฉพาะกระท่อมที่ใช้ในทางการแพทย์ (ก่อนการปลดล็อกกระท่อม)
ดังนั้น ด้วยความที่ทั่วโลกมีความต้องการกระท่อมอยู่ไม่น้อย แถมตลาดกระท่อมเป็นตลาดใหม่ ยังมีผู้เล่นไม่มาก ธุรกิจกระท่อมในไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้ในระดับโลก
กระท่อมในระดับโลก กับการบริโภคที่ไปไกลกว่าใบและน้ำกระท่อม
ในโลกนี้มีหลายประเทศที่ไม่ได้กำหนดให้ กระท่อม เป็นยาเสพติดให้โทษ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ไปจนถึงแคนาดา เป็นต้น แต่ตลาดกระท่อมที่ใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ที่ตลาดมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ประเด็นก็คือ ต้องสลัดภาพการบริโภคแบบเดิมๆ ทิ้งไปก่อน เพราะในต่างประเทศการบริโภคกระท่อมมีความหลากหลาย มีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า บำบัดยาเสพติด ไปจนถึงบำรุงร่างกายในด้านต่างๆ และมีการจำหน่ายกระท่อมในลักษณะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น ชา ผงแห้ง อาหารเสริม ยาดม เป็นต้น
หากอยากรู้ว่าตลาดกระท่อมในต่างประเทศไปไกลแค่ไหน ก็ให้ลองดูว่าแค่ในสหรัฐก็มีการวางจำหน่ายผงกระท่อมแบบออนไลน์ รูปลักษณ์ทันสมัย มีหลากหลายยี่ห้อหลากหลายสายพันธุ์ตอบโจทย์ผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของ Just Kratom ที่มีให้เลือกตั้งแต่พันธุ์ Red Bali, Green Malay ไปจนถึง White Maeng Da
ทีนี้ลองนึกภาพว่าหลังจากนี้ เกษตรกรไทยจะมีโอกาสมากกว่าการซื้อ-ขาย ใบกระท่อมสด แต่มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องดื่ม อาหารเสริม ยาดม ยาบำรุงกำลัง หรือ อาหาร และยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่การสร้างรายได้จากการซื้อขายแบบหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป
โอกาสครั้งใหญ่ของเกษตรกรไทยรายเล็ก
ที่พูดมาทั้งหมดคือภาพระยะยาวที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหันกลับมามองปัจจุบัน หลังจากปลดล็อกกระท่อมได้ไม่นาน พูดได้ว่าเกษตรกรท้องถิ่นก็ปรับตัวกับเรื่องนี้ได้เร็วไม่น้อยเพราะต่างคนต่างก็รีบนำใบกระท่อมทั้งแบบสด แบบแห้ง ต้นกล้า ไปจนถึงเมล็ดพันธุ์ มาวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แถมยังมากันแบบหลายสายพันธุ์หลากแหล่งปลูก จะใบแก่ใบอ่อนจะออร์แแกนิคก็มีหมด เรียกได้ว่าสินค้าแต่ละตัวก็มีสตอรี่ของตัวเองไม่น้อยเลย
ปรากฎการณ์นี้ทำให้เราเห็นความมีชีวิตชีวาที่กลับคืนมาของบรรดาเกษตรกร หลังจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของพวกเขาถูกแช่แข็งหยุดการพัฒนาด้วยตัวบทกฎหมายมายาวนาน ไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ต่างออกไปจากเดิมอีกมากมาย
ที่มา – พระราชกิจจานุเบกษา, กระทรวงสาธารณสุข, Kraken Kratom, Kratom Earth
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา