ศูนย์วิจัยกสิกรไทย: ดัชนีการครองชีพครัวเรือนทรุด ประชาชนรายได้ลด อัตราว่างงานสูงลิ่ว

สถานการณ์โควิด-19 ทวีรุนแรงด้วยสายพันธ์ุเดลต้าที่กลายเป็นสายพันธ์ุหลักในประเทศ ต้องล็อกดาวน์ต่อเนื่อง เศรษฐกิจฟื้นฟูไม่ได้ รัฐบาลต้องค้ำจุนประชาชน

ดัชนีลดลงต่อเนื่อง

การยกระดับมาตรการการป้องกันโควิดที่เริ่มจากการปิดแคมป์คนงานและการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดเสี่ยง รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูง ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลงอย่างต่อเนื่อง ต่ำกว่าเมื่อปี 2020 ที่ต้องล็อกดาวน์เหมือนกัน

จากการสำรวจพบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้า โดยเฉพาะค่าน้ำมันและอาหารสดที่แพงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.45% ซึ่งต่ำกว่า 1.8% หากไม่มีการบรรเทาค่าน้ำค่าไฟจากรัฐ

สถานะทางการเงินของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังฟื้นฟูไม่ได้ และถูกกดดันอย่างหนักมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 90.5% ของ GDP ของเศรษฐกิจไทยใน Q1 ปี 2021 อีกทั้ง ความกังวลด้านค่าจ้างที่ลดลงและการว่างงานก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ผลกระทบจากการล็อกดาวน์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า 64.2 % มีรายได้จากการจ้างงานลดลง ขณะที่ 14.3% ต้องเลิกกิจการหรือถูกเลิกจ้าง ทำให้ตลาดแรงงานที่เปราะบางอยู่แล้วมีสภาพแย่ลง

ล่าสุดใน Q2 ปี 2021 มีผู้ว่างงานสูงถึง 7.3 แสนคน และยังไม่มีทิศทางการฟื้นฟูที่ชัดเจน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถึงแม้จะมีการทดลองเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวบางพื้นที่ แต่จำนวนของนักท่องเที่ยวก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ ด้วยสถานการณ์โควิดในประเทศที่แย่ลงทุกวัน

มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่ามีครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก โดยโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออม มีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9% เท่านั้น

ทว่า ด้วยความที่สถานการณ์โควิดในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น ประชาชนเลยมีโอกาสในการเข้าร่วมน้อยลง อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพใน 13 พื้นที่เสี่ยงที่ถูกล็อกดาวน์อาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บางส่วน

สรุป

สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยยังคงไม่ฟื้นฟูและคงจะไม่ฟื้นฟูต่อไป หากสถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น ซึ่งภาครัฐควรเข้ามาควบคุมให้เร็วที่สุด และเยียวยาประชาชนให้เพียงพอในสภาวะวิกฤต ณ ปัจจุบัน

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา